The official emblem for His Majesty the King's 6th Cycle Birthday Anniversary Celebrations, 5 December 1999 Welcome to Kanchanapisek Network Kanchanapisek Network logo


ENGLISH VERSION
หน้าแรก
พระราชประวัติ
พระราชพิธีกาญจนาภิเษก
พระราชกรณียกิจ
โครงการพระราชดำริ
พระราชดำรัส
พระราชอัจฉริยภาพ
เพลงพระราชนิพนธ์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
สยามบรมราชกุมารี

หน่วยงาน
ในเครือข่ายกาญจนาภิเษก

หน่วยงานที่ร่วมเสนอผลงาน
เกี่ยวกับเครือข่ายกาญจนาภิเษก
ความรู้เพื่อคนไทย
Site map
Milestones
Feedback

Main Banner

พระราชกรณียกิจ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช


พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักดีว่า การพัฒนาการศึกษาของเยาวชนนั้น เป็นพื้นฐานอันสำคัญของประเทศชาติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดล ให้เป็นทุนสำหรับการศึกษาในแขนงวิชาต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาได้มีทุนออกไปศึกษา หาความรู้ต่อในวิชาการชั้นสูงในประเทศต่างๆ โดยไม่มีเงื่อนไขข้อผูกพันแต่ประการใด เพื่อที่จะได้นำความรู้นั้นๆ กลับมาใช้พัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

H.M.K picture นอกเหนือไปจากนี้แล้ว ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการจัดทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนขึ้น สารานุกรมชุดนี้ มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากสารานุกรมชุดอื่นๆ ที่ได้เคยจัดพิมพ์มาแล้ว กล่าวคือ เป็นสารานุกรมอเนกประสงค์ที่บรรจุเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นสาระไว้ครบทุกแขนงวิชา โดยจัดแบ่งเนื้อหาของแต่ละเรื่องออกเป็นสามระดับ เพื่อที่จะให้เยาวชนแต่ละรุ่น ตลอดจนผู้ใหญ่ที่มีความสนใจ สามารถที่จะศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ได้ตามความเหมาะสมของพื้นฐานความรู้ ของแต่ละคน โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละสาขาวิชา การอุทิศเวลาและความรู้ เพื่อสนองพระราชดำริ โดยร่วมกันเขียนเรื่องต่างๆ ขึ้น แบ่งออกเป็น 4 สาขาวิชา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

ทรงก่อตั้งกองทุนนวฤกษ์ ในมูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อช่วยให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา ทั้งยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนริเริ่มในการก่อสร้างโรงเรียนตามวัดในชนบท สำหรับที่จะสงเคราะห์เด็กยากจนและกำพร้า ให้ได้มีสถานที่สำหรับศึกษาเล่าเรียน โดยอาราธนาพระภิกษุเป็นครูสอนในวิชาสามัญต่างๆ ที่ไม่ได้ขัดต่อพระธรรมวินัย ตลอดจนช่วยอบรมศีลธรรมแก่เด็กนักเรียน ทั้งนี้ เป็นพระราชประสงค์ที่จะให้เด็กนักเรียน ได้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการศึกษาควบคู่กันไป อันจะทำให้เยาวชนของชาติ นอกจากจะมีความรู้ด้านวิชาการแล้ว ยังจะทำให้มีจิตใจที่ดี ที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม เพื่อที่จะได้เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติต่อไป ในอนาคต

โรงเรียนร่มเกล้า ก็เป็นสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ในหลายจังหวัดที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริ ที่จะให้ทหารออกไปปฏิบัติภารกิจในท้องที่ทุรกันดาร ได้ทำประโยชน์ต่อชุมชน และมีส่วนช่วยเหลือประชาชนในด้านการศึกษา ตามโอกาสอันควร โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้ทหารจัดสร้างโรงเรียนขึ้นในจังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนสถานศึกษาสำหรับเยาวชน และยังเป็นการส่งเสริมความเข้าใจอันดี ระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารที่ไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่นั้นๆ กับราษฎรเจ้าของท้องที่อีกโสตหนึ่งด้วย ซึ่งในการดำเนินงานจัดสร้างโรงเรียน ทางฝ่ายทหารได้ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และฝ่ายศึกษาธิการ เพื่อเลือกสถานที่ตั้งโรงเรียนที่เหมาะสมกับความจำเป็นที่สุด ซึ่งปรากฎว่าราษฎรในท้องที่ที่มีการสร้างโรงเรียน ได้พากันร่วมอุทิศแรงกายช่วยในการก่อสร้าง ตลอดจนอุทิศทุนทรัพย์สมทบเป็นทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ที่จะนำไปใช้ในการก่อสร้างโรงเรียน เพื่อเป็นการโดยเสด็จพระราชกุศลด้วย และเมื่อการก่อสร้างโรงเรียนแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงเรียนเหล่านั้น พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า โรงเรียนร่มเกล้า ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งโรงเรียนระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา


พระราชกรณียกิจด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นประมุขของประเทศ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ หลายประเทศ ทั้งในทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป และทวีปอเมริกาเหนือ เพื่อเป็นการเจริญทางพระราชไมตรีระหว่างประเทศไทย กับบรรดามิตรประเทศเหล่านั้น ที่มีความสัมพันธ์อันดีอยู่แล้ว ให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทรงนำความปรารถนาดีของประชาชนชาวไทย ไปยังประเทศต่างๆ นั้นด้วย ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างไกลมากยิ่งขึ้น นับว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมหาศาล และประเทศต่างๆ ที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเจริญทางพระราชไมตรีนั้น มีดังนี้

    H.M.K picture
  • เวียดนามใต้ ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๑ ธันวาคม ๒๕๐๒ ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศครั้งแรก ในรัชกาลปัจจุบัน
  • สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ ๘-๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๓
  • สหภาพพม่า ระหว่างวันที่ ๒-๕ มีนาคม ๒๕๐๓
  • สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๑๔ มิถุนายน - ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๐๓
  • อังกฤษ ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๓ กรกฎาคม ๒๕๐๓
  • สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ระหว่างวันที่ ๒๕ กรกฎาคม - ๒ สิงหาคม ๒๕๐๓
  • สาธารณรัฐโปรตุเกส ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๕ สิงหาคม ๒๕๐๓
  • สวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ ๒ช-๓๑ สิงหาคม ๒๕๐๓
  • เดนมาร์ก ระหว่างวันที่ ๖-๙ กันยายน ๒๕๐๓
  • นอร์เวย์ ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๑ กันยายน ๒๕๐๓
  • สวีเดน ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๕ กันยายน ๒๕๐๓
  • สาธารณรัฐอิตาลี ระหว่างวันที่ ๒๘ กันยายน - ๑ ตุลาคม ๒๕๐๓
  • นครรัฐวาติกัน เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๐๓
  • เบลเยี่ยม ระหว่างวันที่ ๔-๗ ตุลาคม ๒๕๐๓
  • สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ ๑๑-๑๔ ตุลาคม ๒๕๐๓
  • ลักเซมเบอร์ก ระหว่างวันที่ ๑๗-๑๙ ตุลาคม ๒๕๐๓
  • เนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๗ ตุลาคม ๒๕๐๓
  • สเปน ระหว่างวันที่ ๓-๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๓
  • สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ระหว่างวันที่ ๑๑-๒๒ มีนาคม ๒๕๐๕
  • สหพันธรัฐมลายา ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๗ มิถุนายน ๒๕๐๕
  • นิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๖ สิงหาคม ๒๕๐๕
  • ออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ ๒๖ สิงหาคม - ๑๒ กันยายน ๒๕๐๕
  • ญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ ๒๗ พฤษภาคม - ๕ มิถุนายน ๒๕๐๖
  • สาธารณรัฐจีน ระหว่างวันที่ ๕-๘ มิถุนายน ๒๕๐๖
  • สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ ๙-๑๔ กรกฎาคม ๒๕๐๖
  • สาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ ๒๙ กันยายน - ๕ ธันวาคม ๒๕๐๗
  • สาธารณรัฐเยอรมัน ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๘ สิงหาคม ๒๕๐๙ ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง
  • สาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ ๒๙ กันยายน - ๒ ตุลาคม ๒๕๐๙ ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง
  • อิหร่าน ระหว่างวันที่ ๒๓-๓๐ เมษายน ๒๕๑๐
  • สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๖-๒๐ มิถุนายน ๒๕๑๐ ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง
  • แคนาดา ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๔ มิถุนายน ๒๕๑๐
  • สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ ๘-๙ เมษายน ๒๕๓๗

เมื่อเสร็จสิ้นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ แล้ว ก็ได้ทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะ ที่เป็นประมุขของประเทศต่างๆ ที่เสด็จและเดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นการตอบแทน และบรรดาพระราชอาคันตุกะทั้งหลาย ต่างก็ประทับใจในพระราชวงศ์ของไทย ตลอดจนประชาชนชาวไทยอย่างทั่วหน้า


พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์

H.M.K picture ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องที่ต่างๆ ทุกครั้ง จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ที่ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่างๆ และล้วนเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในขบวนอย่างใกล้ชิด พร้อมด้วยเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ครบครัน พร้อมที่จะให้การรักษาพยาบาลราษฎร ผู้ป่วยไข้ได้ทันที

นอกจากนั้น ยังมีโครงการทันตกรรมพระราชทาน ซึ่งเป็นพระราชดำริที่ให้ทันตแพทย์อาสาสมัคร ได้เดินทางออกไปช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟัน แก่เด็กนักเรียนและราษฎรที่อาศัยอยู่ในท้องที่ทุรกันดาร และห่างไกลจากแพทย์ทั่วทุกภาค โดยให้การบริการรักษาโรคฟัน โดยไม่คิดมูลค่าในการแพทย์เคลื่อนที่

สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมวัดทุกแห่ง ซึ่งนับเป็นศูนย์กลางของชุมชนในชนบท โดยจะพระราชทานกล่องยาแก่วัด เพื่อพระภิกษุใช้เมื่อเกิดอาพาธ และเพื่อแจกจ่ายแก่ราษฎรผู้ป่วยเจ็บในหมู่บ้านนั้นๆ ส่วนในการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมหน่วยทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร ที่ออกไปตั้งฐานปฏิบัติการในท้องที่ทุรกันดาร ก็จะพระราชทานสิ่งของที่จำเป็นต่างๆ รวมทั้งยารักษาโรคสำหรับใช้ในหมู่เจ้าหน้าที่ และใช้ในการรักษาพยาบาล และเพื่อแจกจ่ายแก่ราษฎรในท้องที่ ที่มาขอความช่วยเหลือ อันจะทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปราม และประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติการ ได้มีความเข้าใจอันดีต่อกัน รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ทางด้านหน่วยแพทย์หลวงที่จะต้องตามเสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่ประทับแรมทุกแห่งนั้น จะมีเจ้าหน้าที่ให้การรักษาพยาบาลราษฎร ผู้มาขอรับการรักษา ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่ประการใด นอกจากนั้น หน่วยแพทย์หลวงยังจัดเจ้าหน้าที่ออกเดินทาง ไปรักษาราษฎรผู้ป่วยเจ็บ ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปอีกด้วย โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ซึ่งเป็นผู้แนะนำสถานที่และร่วมเดินทางไปด้วย สำหรับราษฎรผู้เจ็บป่วยรายที่มีอาการหนัก หรือจำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจรักษาเพิ่มเติมนั้น ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จพระราชดำเนิน ทำการบันทึกรายชื่อ อาชีพ ที่อยู่ และอาการโดยละเอียด โดยตรวจสอบความถูกต้องกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และมีสำเนาให้รับทราบเพื่อติดต่อประสานงานต่อไป ในการพิจารณาส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อ ตามความเห็นของแพทย์ผู้ทำการตรวจ


สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๔๒ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗
ห้ามนำข้อมูลของเครือข่ายนี้ ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร