สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานแก่คณะบุคคล ที่มาเข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตฯ (ฉบับไม่เป็นทางการ) วันพุธที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้าพเจ้าขอขอบคุณ ท่านนายกรัฐมนตรี คณะรัฐบาล และท่านทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้แทนของข้าราชการทุกหมู่เหล่า ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ สภา สถาบัน สมาคม ชมรม มูลนิธิลูกเสือชาวบ้าน ละประชาชนทุกหมู่เหล่า จากทุกจังหวัด ทั่วประเทศ รวมจำนวน ๑๕,๒๑๕ คน ที่พร้อมใจกันเดินทางมาอวยพรข้าพเจ้าในวันนี้ คำกล่าวของท่านนายกรัฐมนตรี ในนามของประชาชนไทยทั้งประเทศ ทำให้ข้าพเจ้า มีกำลังใจยิ่งขึ้น ขอขอบคุณผู้มีน้ำใจอีกหลายท่าน ที่จัดอาหาร และน้ำดื่ม มาช่วยสำหรับบริการประชาชนจำนวนมาก ที่เดินทางมาอวยพรข้าพเจ้า และยังต้องขอบคุณทุกหน่วยงาน ทุกกลุ่มบุคคล ที่บำเพ็ญสาธารณกุศล สาธารณประโยชน์ ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก หรือผู้ใหญ่ ที่จัดกิจกรรมหรือทำสิ่งดีๆ เพื่อบ้านเมือง หรือช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน เพื่อเป็นของขวัญวันเกิดแก่ข้าพเจ้า เช่น มูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก ได้จัดทำโครงการผ่าตัด และรักษาเด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ - ๒๕๕๕ ขณะนี้ช่วยมาได้ ๓๓๓ รายแล้ว แต่ตั้งเป้าหมาย จะช่วยเด็กโรคหัวใจให้ได้ถึง ๘๐๐ คน โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดทำโครงการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด เทิดไท้คู่ขวัญองค์ราชัน ราชินี สืบต่อจากโครงการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูกเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา บรมราชินีนาถ โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการปลูกต้นไม้นานาชนิด ของหลายหน่วยงาน โครงการปลูกหญ้าแฝก การบริจาคโลหิต การพัฒนาวัด มัสยิด และโรงเรียน การไถ่ชีวิตโค กระบือ โครงการรักษาผู้ป่วยออทิสติก โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ของกองทัพเรือ กองทุนแม่ของแผ่นดิน เพื่อสนับสนุนการป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน และชุมชน ของกระทรวงยุติธรรม การอุปสมบทพระภิกษุ และบรรพชาสามเณร เป็นจำนวนมากทั่วประเทศ และยังมีอีกมากมายหลายโครงการ ซึ่งข้าพเจ้าไม่สามารถกล่าวถึงได้ครบถ้วน ข้าพเจ้าปลื้มใจที่ชาวไทยพร้อมใจกันทำความดีเพื่อข้าพเจ้า จึงขอขอบคุณทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ อีกครั้งหนึ่งด้วย ยาวหน่อยนะคะ อย่าหลับเสียก่อน หลายเดือนมานี้ ข้าพเจ้าอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่ที่นั่น ขณะนี้พระสุขภาพดีขึ้นมากแล้ว แต่หมอยังให้ทรงทำกายภาพบำบัดต่อไป เพื่อให้ทรงพระดำเนินได้แข็งแรง ก่อนที่จะเสด็จฯ ออกจากโรงพยาบาล ข้าพเจ้าปลื้มใจ ที่มีประชาชนมาถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นจำนวนมากทุกวัน วันละหลายพันคน ทั้งที่มาเป็นรายบุคคล เป็นครอบครัว หรือเป็นหมู่คณะ มีทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ศาสนา มาจากต่างจังหวัดไกลๆ ตั้งแต่เหนือจดใต้ หรือต่างประเทศ ก็มี เช่น เร็วๆ นี้ มีชายคนหนึ่ง วัย ๔๕ ปี เป็นชาวอังกฤษ ใช้เวลากว่า ๓ เดือน ขี่จักรยานไปรอบโลก เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน เขาได้มาลงนามถวายพระพร และให้สัมภาษณ์ว่า เขารักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรักเมืองไทยมาก นอกจากประชาชน จะมาลงนามถวายพระพรแล้ว ยังได้นำสิ่งของมากมายมาถวาย เป็นกำลังพระทัย เช่น พระพุทธรูป ดอกไม้ พวงมาลัย ผลไม้ เงิน และจดหมายถวายพระพร เป็นต้น ไม่ต่างอะไรเลย กับเวลาที่พระองค์ท่านเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัด เป็นบรรยากาศแห่งความผูกพัน ระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับประชาชน ที่ข้าพเจ้าซาบซึ้งใจมาก ข้าพเจ้าได้ทราบว่าหลายคน ทำทุกอย่างที่เชื่อว่า จะทำให้ทรงแข็งแรงขึ้น เช่น หนูน้อยคนหนึ่ง อายุแค่ ๕ ขวบ คุณแม่เล่าว่า พอบอกว่าจะมาถวายพระพร ที่โรงพยาบาลศิริราช เพราะในหลวงไม่สบาย หนูน้อยวิ่งกลับไปหยิบหนังสือนิทาน แล้วบอกคุณพ่อ คุณแม่ ว่า จะไปอ่านให้ในหลวงฟัง จะได้หายเร็วๆ ทราบมาว่าเวลาที่เขาไม่สบาย คุณแม่เขาเคยอ่านนิทานให้ฟัง ความจริงหนูน้อยคนนี้ยังอ่านหนังสือไม่ออกเลย แต่ฟังนิทานเรื่องนี้มาหลายรอบ จนจำได้ขึ้นใจ ก็อ่านจากความจำของตน พลิกอ่านไปทีละหน้า เหมือนอ่านได้จริงๆ น่าเอ็นดูมาก บางคนก็มานั่งสวดมนต์ถวาย บางคนมาแทบทุกวัน จนเจ้าหน้าที่จำได้ เด็กเล็กคนหนึ่ง มาสีไวโอลินถวาย บางครอบครัวร่วมกันพับนก เป็นร้อย เป็นพันตัว เพื่อถวายพระพร ให้พระชนมายุยืนยาว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สื่อถึงความรัก ความห่วงใย ที่ประชาชนมี ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างชัดเจน ซึ่งข้าพเจ้าก็เชื่อเช่นเดียว กับประชาชนว่า สามารถช่วยให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแข็งแรงขึ้นได้จริงๆ สำหรับเงินที่ประชาชนถวายมา คนละเล็ก คนละน้อย ซึ่งรวมแล้วก็เป็นเงินก้อนใหญ่ หลายล้านบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อสงเคราะห์ผู้ป่วยที่เดือดร้อน ส่วนพวงมาลัย และดอกไม้ ข้าพเจ้ารับเป็นธุระมาจัดถวาย เช่น ได้ส่งไปบูชาพระประธานตามวัดต่างๆ เป็นการนำกุศล ไปสร้างกุศลเพิ่ม ซึ่งผู้ถวายทุกคน จะได้โดยเสด็จพระราชกุศล กับพระองค์ท่าน ข้าพเจ้าเองก็ร่วมอนุโมทนา ในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วย ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับที่ศิริราช ทรงปฏิบัติพระราชกิจตามปกติ เช่น พระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้บุคคลต่างๆ เฝ้าฯ หลายครั้ง ท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้ไปเฝ้าฯ หลายครั้งแล้ว เพื่อทรงติดตามปัญหาความทุกข์ยาก ของประชาชนทั่วประเทศ เรื่องที่ทรงห่วงมากระยะนี้ ก็เรื่องน้ำ ปัญหาเรื่องน้ำ ตั้งแต่ตอนที่ฝนทิ้งช่วง ประชาชนประสบปัญหาภัยแล้ง ต้องทรงส่งฝนหลวงไปช่วย จนถึงขณะนี้ฝนตกมาแล้ว ก็ยังทรงติดต่อตามข่าว และสถิติทุกอย่าง เพื่อเตรียมการไว้สำหรับป้องกัน หรือแก้ปัญหาต่างๆ ที่อาจจะมีมาอีก ฝนหลวง คือ วิธีการทำให้เกิดฝน ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงค้นและพัฒนามาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๘ เพื่อช่วยประชาชนในท้องถิ่น ที่ขาดแคลนน้ำ แต่ก็ไม่ใช่ว่า จะทำฝนหลวงได้ทุกพื้นที่ ทุกเวลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่า ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ ทรงอธิบายว่า ต้องมีเมฆ และความชื้นในอากาศเพียงพอ จึงจะทำได้ โครงการฝนหลวง มีผลงานเป็นที่รู้จักกันดี และเป็นที่เรียกร้องของประชาชนเสมอ ในยามที่ฝนทิ้งช่วงนานๆ จนเกิดปัญหาภัยแล้ง อย่างในปีนี้ น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีปริมาณน้อย และลดลงอย่างรวดเร็ว ปริมาณฝนสะสมตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ถึง ๒๘ กรกฎาคมนี้ มีน้อยกว่าปีที่แล้วถึง ๑ ใน ๔ ทางราชการได้ออกประกาศเตือน ให้ชาวนา ชาวไร่ ลดการปลูกพืชฤดูแล้ง พยายามปลูกพืช ที่ใช้น้ำน้อยแทน แต่ประชาชนก็ยังปลูกมากกว่า ที่ทางราชการวางแผนไว้ถึง ๖๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนมากเป็นการปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งต้องใช้น้ำมากเสียด้วย ข้าพเจ้าก็เห็นใจ และเข้าใจชาวนา เพราะเมื่อข้าวได้ราคา และนาว่าง ก็อยากจะปลูกข้าวต่อไป แม้จะทราบว่าน้ำไม่พอ บางคนก็ยอมเสี่ยง เผื่อว่าโชคดี ฝนอาจจะมาเร็ว แต่เมื่อฝนไม่ตก ข้าวก็เหี่ยวแห้งรอวันตาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงติดตามเรื่องสถานการณ์น้ำ อยู่ตลอดเวลา แม้ระหว่างประทับพักฟื้นอยู่ ที่โรงพยาบาลศิริราช ก็ไม่ทรงว่างเว้นเลย เดือนมิถุนายนนี้ ทรงขอให้สำนักฝนหลวง และการบินเกษตร ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษ ในภาคเหนือ ๔ แห่งด้วยกัน ภาคอีสาน ๑ แห่ง ภาคกลาง ๑ แห่ง เพื่อเพิ่มน้ำให้เขื่อนใหญ่ ๕ แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระดับน้ำก็กระเตื้องขึ้นมา และพื้นที่แห้งแล้งภายนอกก็ลดลง การทำฝนหลวงนี้เป็นที่สนใจนานาชาติอย่างกว้างขวาง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจดสิทธิบัตรการทำฝนหลวงไว้แล้ว ใครจะใช้เทคโนโลยีฝนหลวง ต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน หลายชาติมาศึกษาดูงาน ในประเทศไทย บ้างก็ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ใช้เทคโนโลยีฝนหลวง เช่น เมื่อเร็วๆ นี้ ทางรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นรัฐที่ค่อนข้างแห้งแล้งอยู่เสมอ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ใช้เทคโนโลยีฝนหลวง พระองค์ท่านก็พระราชทาน แสดงให้เห็นว่า พระมหากรุณานั้นมิได้จำกัดอยู่เพียงราษฎร ในประเทศไทยเท่านั้น แต่แผ่กว้างไปถึงชาวโลกด้วย ซึ่งข้าพเจ้าก็ภาคภูมิใจ ที่พระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน มีส่วนช่วยดับทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ ในนานาประเทศ ซึ่งบางประเทศนั้น ก็มีชื่อเสียงทางเทคโนโลยีด้านอื่นๆ ยิ่งกว่าประเทศไทยด้วยซ้ำไป และจากที่บ้านเราฝนแล้งมาระยะหนึ่ง ต่อไปนี้จะมีข่าวดี ที่พึงต้องระวังไปพร้อมกัน เพราะมีแนวโน้มของสภาพอากาศว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงตุลาคมปีนี้ ประเทศไทยจะมีฝนมากกว่าปกติ ข่าวดีก็คือ เราจะได้มีน้ำสำรองไว้ใช้ในปีหน้า แต่ที่ควรระวังคือ ปัญหาน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมที่จะตามมา ดังที่เราเห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ในระยะนี้ เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม นี้เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้คณะผู้บริหาร สถาบันสารสนเทศน้ำ และการเกษตร เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลรายงาน สรุปสถานการณ์น้ำ ได้รับสั่งให้ย้ำทุกหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเรื่องน้ำทั่วประเทศ ให้ช่วยกันวางแผน เพื่อรับมือปัญหาน้ำที่ขาดแคลน เป็นประจำทุกฤดูแล้ง และจะขาดแคลนมากขึ้น ในอนาคต โดยให้คำนึงถึงการประสานประโยชน์ ไม่เน้นด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป เวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงงานเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ พระองค์ท่านจะต้องใช้แผนที่เป็นคู่มือทุกครั้ง ในห้องทรงงานที่พระตำหนักทุกๆ แห่ง ทั่วประเทศ จะมีแผนที่ประเทศไทยขนาดใหญ่ ติดฝาห้อง และแผนที่ ที่ขยายเฉพาะส่วน ก็มีอีกหลายแผ่น ฉบับที่ทรงถือติดพระหัตถ์นั้น ความจริงมีขนาดใหญ่มาก เพราะทรงนำแผนที่มาต่อกันถึง ๙ แผ่น หรือ ๙ ระวาง แต่ทรงหาวิธีพับแบบพิเศษ จนมีขนาดที่ทรงถือได้สะดวก และพลิกออกมาทอดพระเนตรได้ง่าย ทรงตรวจสอบแผนที่เสมอ ไม่ว่าจะเสด็จฯ ที่ไหน แม้ขณะทรงขับรถเอง ก็มีแผนที่วางอยู่ข้างพระองค์ตลอดเวลา ถ้าประทับเฮลิคอปเตอร์ ก็จะทอดพระเนตรสภาพพื้นที่จริงเบื้องล่าง เปรียบเทียบไปกับแผนที่ตลอดทาง ไม่มีการหลับเด็ดขาด เสด็จฯ ไปถึงที่หมายแล้ว จะทรงถามชาวบ้านว่า ชื่อหมู่บ้าน แม่น้ำลำคลอง หรือถนน ตรงกับแผนที่ไหม มีหมู่บ้านใดเกิดขึ้นมาใหม่บ้าง ถ้ามีข้อมูลที่ต่างไปจากแผนที่ จะโปรดฯ ให้นายทหารแผนที่จดไว้ และนำไปแก้ไข ในการพิมพ์แผนที่ครั้งต่อไป ให้ถูกต้อง หากมีโครงการสร้างเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำ ทรงสามารถคำนวณพื้นที่รับน้ำคร่าวๆ ได้จากแผนที่ของพระองค์เอง ทรงชำนาญมาก จนทอดพระเนตรความสูงต่ำของภูมิประเทศได้ ราวกับทอดพระเนตรพื้นที่จริง นักวิชาการหลายท่านทราบดี ถึงพระปรีชาสามารถด้านการทรงงานแผนที่ ของพระองค์ท่านดี และความที่ทรงแม่นยำในแผนที่นี้ ทำให้ข้าราชการที่ปฏิบัติงานด้วย พลอยกระตือรือร้น ศึกษาหาความรู้เรื่องแผนที่ไปด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเริ่มโครงการ เพื่อช่วยเหลือประชาชน ไว้เป็นจำนวนมาก ทุกภาค อย่างโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทรงเริ่มเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๖ จากนั้น ระหว่างประทับที่วังไกลกังวล ได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในพื้นที่ จ.เพชรบุรี และราษฎรในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นประจำ ทรงพบว่า ปัญหาหลัก คือ ดินเป็นทราย ปลูกพืชไม่ค่อยขึ้น จึงทรงพระราชดำริริเริ่ม โครงการเกษตรขึ้นหลายแห่ง เช่น ที่หุบกระพง ดอนขุนห้วย ที่สำคัญคือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย จีงหวัดเพชรบุรี ซึ่งทดลองการปรับปรุง บำรุงสภาพดิน จากดินที่แห้งแข็ง จนสามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้หลายชนิด และทรงสร้างอ่างเก็บน้ำ ไว้แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ด้วย ผลงานสำคัญ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ในภาคกลางก็เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนขุนด่านปราการชล เป็นต้น สมัยก่อน เมื่อครั้งที่ยังไม่ได้สร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ต้องประสบน้ำท่วม เนื่องจากน้ำเหนือหลาก พร้อมกับน้ำทะเลหนุนอยู่เสมอ วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงชวนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน จ.สมุทรปราการ กรมทางหลวง กรมเจ้าท่า กรมอุทกศาสตร์และกองทัพเรือ ให้ร่วมกันวางโครงการขุดลอก คลองลัดโพธิ์ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ มีลักษณะโค้งอ้อม ระยะทางประมาณ ๑๘ กิโลเมตร คลองลัดโพธิ์เดิม กว้างประมาณสิบกว่าเมตร ลึก ๑ ถึง ๒ เมตร ถ้าปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ ซึ่งเชื่อมต่อด้านเหนือโค้ง และปลายโค้งได้ ก็จะสามารถใช้เป็นทางลัด ระบายน้ำเหนือได้เร็ว เพราะระยะทางสั้นเพียง ๖๐๐ เมตรเท่านั้น กรมชลประทานจึงดำเนินการ ตามพระราชดำริ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๖ เสร็จใน พ.ศ.๒๕๔๘ โดยมีประตูระบายน้ำ ควบคุมน้ำที่ไหลผ่าน ไม่ให้มากเกินไป และป้องกันน้ำเค็มไหลย้อน โครงการคลองลัดโพธิ์ ได้ช่วยลดระดับน้ำหลาก ในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง และลดระยะเวลาน้ำท่วมขังลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปลาบปลื้ม ชื่นชมโครงการนี้มาก และมีพระราชดำริให้ศึกษา การใช้พลังงานน้ำ ที่ระบายผ่านคลองให้เกิดประโยชน์ กรมชลประทาน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงร่วมกันประดิษฐ์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ และชุดสำเร็จของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ขึ้น รวมทั้งยื่นขอจดสิทธิบัตรงานทั้ง ๒ ชิ้น ในพระปรมาภิไธยด้วย ภาคเหนือ พระราชกิจคือ โครงการหลวง เริ่มเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ วัตถุประสงค์หลัก คือ เปลี่ยนอาชีพของชาวไทยภูเขา จากการปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าอย่างรวดเร็ว ไปเป็นการปลูกพืชผัก ผลไม้เมืองหนาวแทน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ต้องเสด็จฯ ไปตามดอยสูงต่างๆ เป็นร้อยๆ ครั้ง บางครั้งทรงขับรถพระที่นั่ง ไปตั้งหลายชั่วโมง ที่สูงและกันดาร จนทางรถไปไม่ถึง ก็เสด็จฯ โดยเฮลิคอปเตอร์ จากนั้นก็ทรงพระดำเนินไปตามดอย อีกหลายกิโลเมตร ข้าพเจ้าขอเติมว่า ข้าพเจ้าติดตามไปด้วยตลอดเวลา ทอดพระเนตรสภาพความเป็นอยู่ ของชาวเขาอย่างใกล้ชิด โดยมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้ช่วยคนสำคัญ ขณะนี้โครงการหลวง ประสบผลสำเร็จแล้ว ผลผลิตทางการเกษตรของโครงการหลวง มีจำหน่ายอย่างแพร่หลาย ประชาชนสามารถศึกษาโครงการพระราชดำริ ของภาคเหนือได้ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนภาคใต้ โครงการพระราชดำริเริ่มใน พ.ศ.๒๕๑๖ จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทอดพระเนตรเห็น สภาพพรุหลายแห่ง ซึ่งมีพื้นที่เป็นล้านๆ ไร่ อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นมาถึง จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อให้เกิดปัญหาน้ำเปรี้ยว ดินเปรี้ยว ประชาชนทำการเกษตรได้ยาก ทรงทดลองใช้วิธีต่างๆ ในการปรับสภาพดินนอกเขตพรุ ทำให้ดินหายเปรี้ยว ที่สำคัญ วิธีการแกล้งดิน นี่ทรงตั้งให้เอง ว่าทรงทำวิธีการแกล้งดินมัน โดยเร่งให้ดินเปรี้ยวเร็วขึ้นอีก ใช้วิธีทำให้น้ำท่วม และแห้งสลับกันไป หลังจากดินเปรี้ยวถึงที่สุดแล้ว ก็ปรับปรุงดิน โดยใช้น้ำจืดชะล้างบ้าง ใช้ปูนขาวบ้าง ดินก็ค่อยๆ ดีขึ้น จนชาวบ้าน สามารถปลูกข้าวได้เพิ่มขึ้น จากไร่ละ ๕ ถัง เป็น ๕๐ ถัง และสามารถปรับปรุงที่นาที่ถูกทิ้งร้างมาถึง ๒๐ ถึง ๓๐ ปี ให้นำมาใช้ประโยชน์ ได้มากกว่าแสนไร่ ศูนย์ศึกษาโครงการพระราชดำริที่สำคัญ ในภาคใต้ คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช สมัยโบราณ จังหวัดนครศรีธรรมราช ของเรา เคยเป็นอู่ข้าว อู่น้ำของภาคใต้ และเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญแห่งหนึ่ง ต่อมามีปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม และน้ำเค็ม ชาวบ้านทำการเกษตรได้น้อยลง พ.ศ.๒๕๒๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงมีพระราชดำริ ในการแก้ไขปัญหาสืบต่อมา โดยให้ดำเนินโครงการ หลายโครงการ อาทิ ขุดคลองระบายน้ำต่างๆ สร้างประตูระบายน้ำ เพื่อช่วยระบายน้ำ ที่ท่วมในหน้าฝนลงทะเล ส่วนหน้าแล้ง ก็ช่วยกั้นน้ำทะเลไม่ให้รุกเข้ามาในแผ่นดิน ทำให้เดี๋ยวนี้น้ำไม่ท่วมตลาดอำเภอปากพนังแล้ว จากที่แต่ก่อนน้ำท่วม แทบทุกปี และยังช่วยให้ชาวบ้าน ทำการเกษตรได้มากขึ้น เช่น ทำนา ทำสวนผลไม้ ปลูกพืชผักต่างๆ และทำนากุ้ง คิดเป็นพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ประมาณ ๑ ล้าน ๙ แสนไร่ บางที่ เช่นที่ อ.หัวไทร สามารถทำนาได้ถึงปีละ ๓ ครั้ง ภาคอีสาน ภูพานราชนิเวศน์ พระตำหนักสร้างเสร็จใน พ.ศ.๒๕๑๙ ปัญหาสำคัญของภาคนี้ คือ พื้นที่เป็นที่ราบสูง ขาดแคลนน้ำ สภาพดินเป็นทราย และใต้ผิวดินหลายพื้นที่ มีเกลือสินเธาว์ โดยรวมแล้วทำให้มีสภาพแห้งแล้ง หลายพื้นที่ทำการเพาะปลูกอะไรไม่ได้ แต่บางพื้นที่มีปัญหาน้ำจากแม่น้ำหลายสาย หลากมาท่วมในฤดูฝน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดทำโครงการชลประทาน ตามพระราชดำริขึ้น เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดต่างๆ ประกอบกับคลองส่งน้ำ เพื่อให้ราษฎรทำการเกษตรได้ เช่น สร้างประตูระบายน้ำหลายแห่ง เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง นอกจากนี้ การฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำลำธาร การปรับปรุงบำรุงดิน สามารถศึกษาโครงการพระราชดำริได้ที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน จ.สกลนคร เรื่องป่านี้ข้าพเจ้าก็พูดถึงเป็นประจำ และไม่ย่อท้อที่จะพูดต่อไป เพื่อชักชวนให้คนไทยรักษาป่า อย่าตัดไม้ทำลายป่า จะทำให้ฝนฟ้าแล้งได้ การมีป่า ทำให้มีน้ำ เพราะป่าเป็นต้นน้ำลำธาร ของแม่น้ำทุกสาย ในประเทศไทย ต้นไม้ช่วยดูดซับน้ำไว้ใต้ดิน ช่วยต้านความแรงของน้ำป่า เป็นแหล่งของสมุนไพร และของป่า และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ด้วย ดังนั้นการที่ท่านทั้งหลาย ช่วยกันปลูกป่าทั่วประเทศ จึงเป็นประโยชน์มาก ทีนี้ข้าพเจ้าขอเล่าอีกเรื่องหนึ่ง เพื่อนของข้าพเจ้าเป็นชาวต่างประเทศ ก็เป็นทางภาคเอเชีย เขามาเฝ้าฯ เป็นทางการ เขาก็พูดกับข้าพเจ้าว่า คนไทยเป็นยังไงนะ ชอบตัดป่าเสียจริงๆ คนลาวไม่เข้าใจ เดี๋ยวๆ คนไทยก็เข้าไปตัดป่าของตัวเสียที จนป่าตัวเองจนป่าตัวเองจะหมด แล้วยังข้ามไปจะไปตัดลาว เขาบอก ลาวไม่มีวันยอมหรอก ให้มาตัดป่าของลาว เขาพูดกับข้าพเจ้าอย่างนี้ เขาแปลกใจว่า ทำไมคนไทย ถึงไม่รู้จักประโยชน์ของป่า ที่ว่าทำให้มีน้ำพอใช้ โครงการปะการังเทียม ปีที่แล้วข้าพเจ้าเล่าให้ท่านทั้งหลายฟังว่า โครงการทำปะการังเทียมนั้น ได้ผลดียิ่ง นักประดาน้ำ ได้ลงไปถ่ายรูปมาให้ดู น่าตื่นเต้นมาก ที่ได้เห็นว่า มีฝูงปลานานาชนิดเข้ามาอาศัย แม้แต่ปลาที่หายาก เช่น ปลาหมอทะเล ตัวใหญ่ขนาด ๒ ถึง ๓ เมตร ก็เข้ามาอาศัย ปลาจาระเม็ดสีเทาขนาดใหญ่ ปลาช่อนทะเล และปลากุเลา ก็เข้ามาอยู่ด้วย ซึ่งปะการังเทียมนี่ ทิ้งก็ไม่ลึกนัก ข้าพเจ้าได้ความรู้นี้ จากผู้เชี่ยวชาญของประมง ชื่ออะไร ดร.จรัลธาดา ข้าพเจ้าไม่ลืมชื่อท่าน แต่วันนี้ เกิดหลงๆ หน่อย ตามประสาอายุ ๗๘ ค่ะ ปลาช่อนทะเล ปลากุเลา ก็เข้ามาอยู่ด้วย ข้าพเจ้าว่า ปลาคงตื่นเต้นกับบ้านใหม่เหมือนกัน มีท่อคอนกรีตของกรมทางหลวง ก็ส่งมาให้ ให้ทิ้งเป็นปะการังเทียม รถขนขยะ ของกรุงเทพมหานคร และตู้รถไฟ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ทุกฝ่ายช่วยกันทั้งนั้น ให้ข้าพเจ้าทิ้งปะการังเทียม เพื่อเหล่าปลาจะได้มาสร้าง มาเลือกอพาร์ตเมนต์ของเขา ได้ข่าวว่าปลาชอบจับจองที่สุด คือ ชอบตู้รถไฟมากเป็นพิเศษ แหมมันมากันใหญ่เลย อู้หู แล้วชาวบ้านที่ธรรมดาแล้ว เขาบอกข้าพเจ้า ปรับทุกข์กับข้าพเจ้าว่า เขายากจน เป็นชาวประมงเล็กๆ มีเรือเล็กๆ ไม่ใช่มีเรือใหญ่ ที่จะออกไปในน้ำลึกได้ ก็มีเรือเล็กๆ เพราะฉะนั้นหากินลำบาก ยากจน ข้าพเจ้าก็ไปปรึกษาทางกรมการประมง ก็ได้เกิดการทิ้งปะการังเทียมนี้ขึ้น โครงการปะการังเทียมนี้ ช่วยประหยัดน้ำมัน ให้ชาวประมงพื้นบ้านได้ ๑๐ ถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ และมีรายได้เพิ่มขึ้น ๒๐ ถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ทำให้กลุ่มประมงพื้นบ้าน ตั้งแต่ปัตตานี ถึงนราธิวาส หลายร้อยคน ลงชื่อกันเป็นหางว่าว เขียนจดหมายมาขอให้ข้าพเจ้า ช่วยจัดทำปะการังเทียมเพิ่มเติม ข้าพเจ้าก็ยังปรารภกับทุกคนว่า ข้าพเจ้าเองไม่รู้เรื่องเลย เกี่ยวกับปะการังเทียม เป็นกรมประมงทั้งนั้น ท่านทั้งหลายก็ว่า คราวนี้หน่วยงานไหนเล่า จะมาช่วยข้าพเจ้าได้ ปรารภไปไม่นาน ผู้ช่วยก็มา หลายหน่วยร่วมมือกัน ร่วมใจบริจาคสิ่งของที่ชำรุด ใช้การไม่ได้ สำหรับทำปะการังเทียม การรถไฟแห่งประเทศไทย สนับสนุนตู้รถสินค้าเพิ่มขึ้นอีก จำนวน ๒๗๓ ตู้ กรุงเทพมหานคร สนับสนุนรถเก็บขยะ ที่ใช้ไม่ได้แล้ว อีกจำนวน ๑๙๘ คัน กองทัพบก สนับสนุนรถถังจำนวน ๒๕ คัน กองบัญชาการกองทัพไทย สนับสนุนรถบรรทุก ๓ คัน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สนับสนุนงบประมาณดำเนินงาน และกรมประมงเป็นหน่วยประสานงาน ปีนี้จัดทำที่ จังหวัดปัตตานี ๙ จุด และจังหวัดนราธิวาส ๖ จุด เริ่มงานวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ที่ผ่านมา และเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในช่วงวันเกิดของข้าพเจ้านี่เอง การทำปะการังเทียมนี้ มีคณะกรรมการดูแลทางด้านยุทธศาสตร์ การเดินเรือ การประมง และสิ่งแวดล้อม ซึ่งศึกษาผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ และแหล่งอาศัย ของสัตว์ทะเลอย่างรอบคอบ พบว่าไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อน ของโลหะหนักในสัตว์น้ำ ส่วนรถชุดใหม่ ที่ส่งไปทำปะการังเทียม ก็ผ่านการทำความสะอาดเป็นอย่างดี ไม่มีคราบน้ำมัน คราวนี้มีรถชนิดต่างๆ ให้เลือกมากมาย คงต้องดูว่า ปลาจะชอบอาศัยอยู่ในรถชนิดไหน แล้วปีหน้า ข้าพเจ้าจะมาเล่าให้ท่านฟังอีก คราวนี้ รถไฟ ของการรถไฟฯ โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่าง หลายปีมาแล้ว มีผู้ที่ใจบุญมากคือ คุณวาสนา เทพหัสดิน ณ อยุธยา ได้ยกที่ดินให้ข้าพเจ้าแปลงหนึ่ง ที่ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ถึง ๘๒ ไร่เศษ เป็นเนื้อที่ติดชายทะเล ข้าพเจ้าปรึกษา ดร.จรัลธาดา กรรณสูตร ผู้เชี่ยวชาญการประมง ดร.จรัลธาดา บัดนี้ ได้มาทำงาน ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อยู่ เธอก็วางแผนงาน และดูแลให้ โดยได้รับความร่วมมือ จากนักวิชาการของกรมประมง และช่วยสนับสนุนที่ดิน ๘๒ ไร่นั้น ให้เป็นฟาร์มทะเลตัวอย่าง โครงการนี้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี โดยคุณกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำเงินจากโครงการเพื่อสาธารณประโยชน์ มาสนับสนุน และอีกส่วนหนึ่ง มาจากเงินที่ประชาชนมอบให้ข้าพเจ้า ไปทำการกุศล ฟาร์มทะเลตัวอย่างนี้ จะเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเล และพืชทนเค็มนานาพันธุ์ เพื่อให้ชาวประมง และผู้สนใจ ได้ใช้เป็นแหล่งศึกษา และเรียนรู้ และนำไปปรับใช้ ให้เหมาะสม แก่สภาพท้องถิ่นของตนต่อไป และยังเป็นที่ที่ช่วยให้ คนมีงานทำเพิ่มขึ้นด้วย ฟาร์มทะเลตัวอย่าง ดร.จรัลธาดา แบ่งเป็น ๔ เขต ตามช่วงความเค็มของน้ำทะเล คือ ๑ เขตน้ำกร่อย ใช้เพาะเลี้ยงปลาที่เติบโตในน้ำกร่อยได้ เช่น ปลากะพงขาว ปลานวลจันทร์ทะเล ปลากระบอก ปลาม้า เป็นต้น ๒ เขตน้ำปกติ ใช้เพาะเลี้ยงปลาทะเล เช่น ปลาหมอทะเล ปลาช่อนทะเล ปลาตะคองเหลือง และปลาทู อันนี้ข้าพเจ้าไม่ได้ทราบเอง เขาให้มา บอกมาอย่างนี้ ในคลองผันน้ำของ ๒ เขตนี้ ปลูกสาหร่ายทะเลหลายชนิด เช่น สาหร่ายมงกุฎหนาม สาหร่ายเม็ดพริก และสาหร่ายผมนาง เพื่อต่อไปจะได้ทดลอง เลี้ยงหอยเป๋าฮื้อเป็นครั้งแรก ปลูกพืชทนเค็มสูง ตามคันบ่อ เช่น มะพร้าว ผักเบี้ย และโกงกาง เขตน้ำเค็มจัดมาก เพาะเลี้ยงไรน้ำเค็ม ๔ เขตนาเกลือ ใช้ทำน้ำทะเลผง สำหรับนำไปผสมน้ำจืด ให้เป็นน้ำทะเล เพื่อเลี้ยงสัตว์ทะเลในที่ต่างๆ ได้ โครงการนี้ คาดแล้วว่า จะเสร็จต้นปี ๒๕๕๔ และจะเปิดให้ประชาชน เข้าไปศึกษาดูงาน ซึ่งข้าพเจ้าหวังว่า ต่อไปจะช่วยเพิ่มปริมาณสัตว์ทะเล และเป็นอาหารให้กับประชาชนได้ เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ข้าพเจ้าได้จัดให้แสดงโขน ตอนพรหมมาศขึ้น ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ตามคำเรียกร้องของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง แสดงอีกครั้งหนึ่ง ที่ขอให้จัดแสดงซ้ำ ปีนี้ประชาชนก็เรียกร้องมาอีก ข้าพเจ้าจึงเลือกตอนใหม่มาให้ชมกัน คือ ตอนนางลอย ซึ่งเป็นตอนที่สนุกสนาน เป็นที่นิยมมาแต่โบราณ คราวนี้ได้จัดสร้างเครื่องแต่งกายผู้แสดงนำ โขนตัวนางขึ้นมาใหม่ อย่างสวยงาม เพราะของเก่า เก่าหมดแล้ว มีแต่ของฝ่ายชายเท่านั้น ที่ยังดี เพิ่มจากตอนพรหมมาศ ที่ได้สร้างเครื่องแต่งกายของโขนตัวพระ เป็นส่วนใหญ่ โขนตอนนางลอยใช้เทคนิคสมัยใหม่ แสดงการเหาะของนางเบญจกาย กับหนุมานอย่างน่าหวาดเสียวมาก เรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมได้ดังสนั่น โขนตอนนางลอยสำเร็จได้ ด้วยความทุ่มเทแรงกายใจ ของครู และเจ้าหน้าที่จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ กรุงเทพฯ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ สำนักการสังคีตกรมศิลปากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง ครูโขน ผู้มีความชำนาญสูง นักแสดงรุ่นใหญ่ รุ่นเยาว์ ที่ฝึกหัดขึ้นมาใหม่ อย่างเข้มข้น วงดนตรีปี่พาทย์ ผู้ขับร้อง และผู้พากษ์บท การแสดงโขนที่ผู้ชมชมด้วยความสนุกสนาน และจบไปในเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมงเท่านั้น เบื้องหลังการแสดง ต้องเตรียมงานกันเป็นปีๆ เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ ต้องปักทั้งนั้น แล้วหัวโขนต้องตกแต่งมาล่วงหน้า ๓ ถึง ๔ ปี รวมทั้งฉากแต่ละฉาก ต้องใช้เวลาในการจัดสร้าง นักแสดง ก็ฝึกเยาวชนรุ่นใหม่ขึ้นมา เตรียมไว้สำหรับเป็นศิลปินเอกรุ่นต่อไป มีการคัดเลือกนักแสดง จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ทั่วประเทศ โดยครูโขน เรียงหน้าเป็นกรรมการ เด็กๆ จะไม่ทราบล่วงหน้าเลย ว่าครูจะทดสอบอะไร พอออกไปยืนแล้ว ปี่พาทย์ขึ้นเพลงอะไร ต้องรำได้ทันที ดังนั้น ทุกคนต้องมีไหวพริบ และสามารถพร้อมอยู่ในตัวเสมอ เด็กที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้ว ครูโขนยังมาฝึกฝนท่ารำ ให้อีกเป็นเวลานาน จนสามารถถ่ายทอดศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทย ออกมาได้อย่างสวยงามที่สุด การจัดแสดงโขนนี้ ยังทำให้เกิดช่างทำหัวโขนขึ้น ช่างปักสะดึงกลึงไหม และช่างต่างๆ ที่ช่วยกันทำเครื่องแต่งกายโขน อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่ของง่ายเลย ทุกคนได้รับการปลูกฝัง ให้ใช้ความประณีต พิถีพิถันอย่างยิ่ง ที่จะผลิตงานตามรูปแบบโบราณ ให้ออกมาเป็นงานฝีมือ ชั้นคุณภาพ และเมื่อถึงเวลานี้ ก็สบายใจได้แล้วว่า จะมีนักแสดงและช่างฝีมือ ที่พร้อมจะช่วยสืบทอดโขน ซึ่งเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติไทย ให้ยืนยง คงอยู่ต่อไป ข้าพเจ้าชื่นใจมาก ที่โขนกลับมาเป็นที่นิยมแล้ว เพราะบัตรเข้าชมโขนนางลอย หมดเร็วมาก จนต้องเตรียมเปิดแสดงใหม่ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ใครยังไม่ได้จองบัตร ก็เตรียมจองได้แล้ว และปีต่อไปคงต้องเลือกตอนใหม่มาแสดงอีก สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าอยากจะเล่าเรื่อง ที่แสดงว่าสังคมไทยของเรา ไม่เคยแล้งคนดีมีน้ำใจเลย ไม่เคยเลย เนื่องจากข้าพเจ้า ได้ทราบข่าวว่า เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคมนี้ ตอนกลางวัน คุณธิติมา ยุราวรรณ อายุ ๓๓ ปี ซึ่งตั้งครรภ์ได้ ๙ เดือนแล้ว ได้สร้างวีรกรรม ขับรถของตนเอง ติดตามคนร้าย ที่ขโมยรถยนต์ของนายทหารเรือหญิง นอกราชการคนหนึ่ง จากห้างสรรพสินค้าย่านบางแค เก่งเหลือเกิน คุณธิติมา เพราะท้องก็แก่ ตั้ง ๙ เดือนแล้ว ขับรถไป วิทยุรายงานตำรวจไปตลอดทาง จนตำรวจสามารถติดตาม รวบตัวคนร้ายไว้ได้ และเจ้าทุกข์ก็ได้รถคืน ข้าพเจ้าขอสรรเสริญคุณธิติมา ซึ่งใจเด็ด พอที่จะขับรถตามคนร้ายไป นับว่าเป็นตัวอย่างของคนดี ของคนไทยเรา คนดีที่หา หายากจริงๆ ข้าพเจ้าทราบว่า คุณธิติมามีกำหนดคลอดบุตรในวันที่ ๑๒ สิงหาคมนี้ ซึ่งตรงกับวันเกิดของข้าพเจ้าพอดี ข้าพเจ้าขออวยพรให้คุณธิติมา ผู้กล้าหาญ มีความสุขความเจริญ คิดสิ่งใดสมความปรารถนา และบุตรชายของเธอ ที่เธอตั้งชื่อไว้ล่วงหน้าว่า น้องฮีโร่ ก็ขอให้มีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว เติบโตขึ้นเป็นพลเมืองดีของชาติ เหมือนคุณแม่ด้วยเช่นกัน ข้าพเจ้าขอขอบคุณท่านทั้งหลาย ที่มาให้พร และให้กำลังใจในวันนี้ และขอขอบพระคุณชาวไทยทั้งประเทศ ที่ร่วมกันทำความดีในเดือนสิงหาคม เพื่อเป็นของขวัญวันเกิด หรือเป็นกุศลแก่ข้าพเจ้า ขอให้ความดีทั้งปวง ได้รับการสานต่อ ให้งอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อยังประโยชน์ให้แก่คนไทย และประเทศไทยสืบไป ขอให้พรทุกประการ ที่ท่านทั้งหลาย มอบให้ข้าพเจ้า จงตอบสนองทุกท่าน และเป็นปัจจัยส่งให้ทุกท่าน แคล้วคลาดจากผองภัย เจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน พบแต่ความเป็นสิริมงคลตลอดไป
|