The official emblem for His Majesty the King's 6th Cycle Birthday Anniversary Celebrations, 5 December 1999 Welcome to Kanchanapisek Network Kanchanapisek Network logo


ENGLISH VERSION
หน้าแรก
พระราชประวัติ
พระราชพิธีกาญจนาภิเษก
พระราชกรณียกิจ
โครงการพระราชดำริ
พระราชดำรัส
พระราชอัจฉริยภาพ
เพลงพระราชนิพนธ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา
สยามบรมราชกุมารี

หน่วยงาน
ในเครือข่ายกาญจนาภิเษก

หน่วยงานที่ร่วมเสนอผลงาน
เกี่ยวกับเครือข่ายกาญจนาภิเษก
ความรู้เพื่อคนไทย
Site map
Milestones
Feedback

Main Banner

พระราชดำรัสของ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
พระราชทานแก่คณะบุคคล ที่มาเข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตฯ
(ฉบับไม่เป็นทางการ)
วันอังคารที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

ข้าพเจ้าขอขอบคุณ ท่านนายกรัฐมนตรี คณะรัฐบาล และท่านทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้แทนของข้าราชการทุกหมู่เหล่า ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร รัฐวิสาหกิจ ผู้แทนขององค์กรทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งทำหน้าที่ตลอดมา ช่วยเหลือสังคมไทย ให้ดำเนินกิจการต่างๆ ไปได้ด้วยดี ผู้แทนสถาบันการศึกษา และประชาชนจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมจำนวนประมาณ ๑๖๐,๐๐๐ คน ที่ได้มาชุมนุมกันอยู่ ณ บริเวณศาลาดุสิดาลัยแห่งนี้ เพื่อร่วมอวยพรแก่ข้าพเจ้า เนื่องในโอกาสคล้ายวันเกิดปีที่ ๗๗ โดยท่านนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย กล่าวอวยพรด้วยใจความที่ทำให้ข้าพเจ้าอายุ ๗๗ นี้ เกิดกำลังวังชา เกิดกำลังใจที่จะทำงานช่วยเหลือประชาชนต่อไป

หลายปีมานี้ มีผู้มาอวยพรข้าพเจ้ามากขึ้นเป็นลำดับ ก็มีผู้มีน้ำใจหลายท่าน เช่นเดียวกัน ที่นำอาหารมาช่วยข้าพเจ้า สำหรับเลี้ยงแขก ข้าพเจ้าขอขอบใจทุกท่าน และขอให้กุศล จากการเลี้ยงอาหารประชาชนในครั้งนี้ ส่งให้ผู้ที่เป็นเจ้าภาพ อาหาร และน้ำดื่มทุกราย มีกิน มีใช้ มีเหลือ แจกผู้อื่นเช่นนี้ตลอดไป ในโอกาสนี้ข้าพเจ้ายังต้องขอบใจทุกท่าน ที่บำเพ็ญสาธารณกุศล และสาธารณประโยชน์ เพื่อให้เป็นกุศลแก่ข้าพเจ้า เช่น คณะแพทย์ที่จัดทำโครงการผ่าตัดหัวใจ ช่วยเหลือประชาชนจำนวน ๕๐๐ ราย และโครงการผ่าตัดหัวใจเด็ก เพื่อช่วยชีวิตเด็ก ตามตะเข็บชายแดนจำนวน ๘๐๐ ราย ซึ่งทั้งสองโครงการนี้ จะเป็นโครงการต่อเนื่องไป จนถึงเมื่อข้าพเจ้ามีอายุ ๘๐ ปี

ขอบใจสภาสังคมสงเคราะห์ ที่ดำเนินโครงการน้ำพระทัยพระราชทาน อยู่อย่างเข้มแข็งตลอดมา นอกจากนี้ ยังมีผู้บวชพระ บวชเณร จัดเทศน์มหาชาติ ปลูกต้นไม้ จัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ เพื่อเป็นเกียรติแก่ข้าพเจ้า ขอบใจผู้ที่ส่งบัตรอวยพรวันเกิดให้ข้าพเจ้า ซึ่งก็มีเด็กนักเรียนรวมอยู่ด้วย เป็นจำนวนมาก ตลอดจนผู้ที่อวยพรข้าพเจ้า ผ่านทางสื่อมวลชนทุกแขนง บ้างก็ประพันธ์บทร้อยแก้ว ร้อยกรอง อย่างไพเราะ บ้างก็รำอวยพร ข้าพเจ้าได้ชมแล้ว รู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจไมตรีของทุกคนเป็นอย่างยิ่ง

ขณะนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และข้าพเจ้า พักอยู่ที่วังไกลกังวล หัวหิน ที่นั่นอากาศดี เหมาะแก่พระสุขภาพ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านสบายดีขึ้น ทรงพยายามออกพระกำลัง โดยทรงพระดำเนินที่เฉลียงทุกๆ วัน ทำให้ทรงแข็งแรงขึ้น เพราะปีนี้ พระชนมายุจะ ๘๒ แล้ว ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ได้ดั่งที่ประชาชนเห็นในข่าวโทรทัศน์ เช่น เสด็จฯออกทรงรับแขกบ้านแขกเมือง หรือมีคณะบุคคลต่างๆ มาเฝ้าฯ บางครั้งก็เสด็จฯออกไปทอดพระเนตรโครงการอะไรใกล้ๆ หัวหินบ้าง จะให้ทรงตรากตรำเดินทางไกล หรือตากแดดตากฝนทั้งวัน เหมือนสมัยที่ทรงงานมาแล้ว หลายสิบปีก่อนนั้น คงไม่ไหว

หลายสิบปีก่อนนี้ เสด็จฯ ไปเยี่ยมประชาชนทุกภาคของประเทศ ทรงขับรถเอง หนทางก็เรียกว่า กันดารไม่ใช่น้อย บางครั้งก็ทรงขับรถข้ามแม่น้ำ นี่เป็นจังหวัดนราธิวาส ทรงขับรถเพื่อไปดู ให้เห็นจริงจัง ถึงการอยู่กินของราษฎร ตามเขตชายแดนต่างๆ แต่พระองค์ท่านก็ยังทรงติดตามงานต่างๆ ตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องฝน เรื่องปริมาณน้ำในเขื่อน ทรงห่วงประชาชนมาก เกรงว่าจะมีน้ำท่วมอีก ถ้าพอจะหาแนวทางอะไรช่วยป้องกันได้ ก็จะมีพระราชดำริให้เตรียมการกันเอาไว้ก่อน

ประเทศไทยของเราเป็นประเทศเกษตรกรรม คนไทยส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ การเพาะปลูกของชาวนาชาวไร่ ซึ่งไม่ได้อยู่ในเขตของชลประทาน ก็ต้องพึ่งพาอาศัยฝนฟ้าจากธรรมชาติเป็นหลัก ปีใดฝนดีผลผลิตก็ดี ปีใดฝนแล้งพืชก็แห้งตาย ฝนมากไปน้ำก็ท่วม ปัญหาของแต่ละภาคไม่เหมือนกัน ภาคเหนือเป็นดอยสูงสลับซับซ้อน มีชาวเขาหลายเผ่าอาศัยอยู่ ดั้งเดิมเขาก็ปลูกฝิ่น เพราะเขาบอก เขาไม่รู้จะทำมาหากินอะไร หรือบางครั้งก็ทำไร่เลื่อนลอย ทำให้เกิดปัญหายาเสพติด และป่าไม้ถูกทำลาย บางครั้งชาวเขา เขาก็กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเองว่า เมื่อพ่อบอกว่าปลูกฝิ่นไม่ดี เขาก็จะทำตาม ก็จะเลิกปลูกฝิ่น จะทำการเพาะปลูกอย่างที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวส่งผู้เชี่ยวชาญไปสอนเขา

แต่เขาก็พูดว่า ขออนุญาตพ่อได้ไหม ให้มีที่ปลูกฝิ่นสักนิดหนึ่ง ไม่ใช่อะไรหรอก เวลาปวดฟัน ปวดท้อง มันนาน กว่าที่จะลงไปหาหมอที่ข้างล่าง ถ้าเขามีฝิ่น เขาปวดฟัน นอนไม่หลับ เขาเสพฝิ่นหน่อยเดียว ก็ค่อยยังชั่ว พระเจ้าอยู่หัว รับสั่งบอก อนุญาต อนุญาตให้ปลูกฝิ่นได้เล็กน้อย สำหรับแก้เจ็บปวดอะไรเช่นนั้น ส่วนภาคอีสานก็เป็นที่ราบสูง ปัญหาใหญ่คือ การขาดแคลนน้ำที่จะใช้เพาะปลูก และดินเป็นดินทราย ภาคใต้มีฝนตกชุกแทบทั้งปี แต่เนื่องจากภูมิประเทศมีลักษณะแคบยาว ด้านหนึ่งเป็นภูเขา ด้านหนึ่งเป็นทะเล ที่ราบตรงกลางบางส่วนเป็นพรุไปเสียหลายแสนไร่ ปลูกพืชเศรษฐกิจอะไรก็ไม่ค่อยได้ เพราะในพรุมีน้ำเปรี้ยวขังอยู่ ถ้าฝนตกมาก น้ำเปรี้ยวในพรุก็ไหลล้นออกมา ทำให้ดินข้างนอกเปรี้ยวตาย ถ้าฝนน้อยไป น้ำเค็มจากทะเลก็ซึมเข้ามา กลายเป็นมีน้ำ ๓ รสด้วยกัน คือ ทั้งจืด ทั้งเปรี้ยว และทั้งเค็ม

ส่วนภาคกลางของเราโชคดี แม้ว่าจะโชคดี ที่มีภูมิประเทศเป็นที่ราบ น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ แต่เนื่องจากเป็นทางผ่าน ที่น้ำมาจากภาคเหนือ และไหลลงสู่ทะเล ปีไหนฝนชุกมาก ภาคกลางก็จะมีน้ำท่วม ซ้ำท่วมแล้วไม่ลดลงเร็วเหมือนภาคอื่น เพราะมีน้ำทะเลหนุน กลายเป็นน้ำท่วมขัง บางพื้นที่ต้องจมน้ำอยู่ตั้งหลายเดือน เช่น บ้านเดิมของข้าพเจ้า บ้านของพ่อแม่ข้าพเจ้าอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เทเวศน์ เห็นเป็นประจำที่น้ำท่วมตลอด บางทีก็ท่วมเข้าไปในบ้านด้วยซ้ำไป พื้นเสียหมดเลย น้ำท่วมมีปลา มีงูมาว่ายอยู่ในบ้าน ต้องย่ำน้ำกันในบ้านนั้นเอง เป็นของธรรมดา บัดนี้ก็สมัยใหม่ขึ้น ก็ค่อยยังชั่วขึ้น

ข้าพเจ้าเป็นพระราชินีมา ๕๙ ปี ได้ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปเยี่ยมในทุกภูมิภาค ของประเทศไทย ทำให้ได้เห็นว่าทรงงานอะไร อย่างไร และที่ไหนบ้าง และได้เห็นว่าทุกครั้งที่เสด็จฯ ไปเยี่ยมราษฎร จะทรงขับรถเอง และก็มีแผนที่อยู่ใกล้พระองค์เสมอ ทรงจะไปทุกหนทุกแห่ง พระองค์ท่านทำงานเกี่ยวกับเรื่องดิน และเรื่องน้ำ มาตลอดหลายสิบปี จนทรงกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญไปแล้ว ปี ๒๕๑๒ ระหว่างประทับที่ชาวเขา ก็ทรงงานช่วยเหลือชาวเขา ที่เขาปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอย ให้เปลี่ยนมาปลูกพืชผักผลไม้ และไม้ดอกเมืองหนาวแทน ทรงดูแลเรื่องการตลาดให้ด้วย โดยมี ม.จ.ภีศเดช รัชนี เป็นผู้ช่วย จนเกิดเป็นโครงการหลวงถึงทุกวันนี้

ม.จ.ภีศเดช รัชนี นี่เป็นนักเรียนอังกฤษเก่า เพราะฉะนั้นการปีนเขา ขึ้นไปเดินบนยอดเขาต่างๆ นี่เป็นเรื่องเล็ก และเป็นผู้ที่ทรหดอดทน ไปเยี่ยมชาวเขาเผ่าต่างๆ จนเขาไว้วางใจ ไว้วางใจว่า ท่านต้องช่วยเขาได้แน่นอน และเขาก็เริ่ม เริ่มลดการปลูกฝิ่น มาปลูกผลไม้ ผัก ดอกไม้ ตามโครงการหลวงถึงทุกวันนี้ ท่านภีศเดช ท่านเสด็จไปตามดอยต่างๆ ไม่ทราบว่ากี่ร้อยครั้ง และเมื่อมาเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงตามเสด็จฯ ขึ้นไปบนดอย โดยรถพระที่นั่ง หรือเฮลิคอปเตอร์ ก็ทรงพระดำเนินต่อไปอีกหลายกิโลเมตร ตอนนั้นข้าพเจ้าอายุยังน้อยอยู่ ก็ยังเดินตามไปได้ ถึงจะเหนื่อยอย่างไร ก็พอทนไหว ถ้าเป็นตอนนี้ล่ะก็ไม่ไหวแล้ว

ที่ภาคอีสาน ภูพานราชนิเวศน์ สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ ก็ทรงใช้เป็นศูนย์กลาง ในการเสด็จฯ ออกไปทอดพระเนตร ว่า พื้นที่ตรงไหน เหมาะจะสร้างอ่างเก็บน้ำ หรือคลองส่งน้ำบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ จะทรงศึกษาจากแผนที่มาก่อน ที่เหนื่อยมาก คือ ภาคใต้ ทักษิณราชนิเวศน์ สร้างเสร็จใน พ.ศ.๒๕๑๖ เมื่อแรกเสด็จฯ เสด็จฯ โดยรถไฟผ่านสถานีต่างๆ มีประชาชนมาคอยรับเต็มไปหมด ถึงแม้จะดึกดื่น ตี ๒ ตี ๓ ข้าพเจ้าแอบดู ที่ในห้องที่ตัวอยู่ เปิดม่านดูนิด เห็นประชาชนมาแน่นขนัด แต่ไม่มีเสียงอะไรเลย เงียบกริบ ต่างคนต่างยืนระวัง ที่จะไม่ให้รบกวน ไม่ให้ปลุกพระบรรทม ก็ซาบซึ้งในความหวังดีของประชาชนเหลือเกิน แต่ก็อุตส่าห์มากันแน่น โดยที่ไม่ได้เห็นพระองค์ เพียงแต่ได้เห็นรถไฟที่ประทับอยู่ ประทับหลับอยู่ในรถไฟ

แต่ที่แท้ ก็ไม่ทรงหลับอะไรจริงๆ เท่าไร ทรงแอบมองเขาอยู่ ที่ภาคใต้ ต้องใช้คำว่า ทรงลุยงานมาโดยตลอด อย่างท่านทั้งหลาย คงจะเคยเห็น ภาพที่พระองค์ท่านประทับเรือ ไปในเขตพรุ น้ำในพรุนั้นใสแจ๋ว มองด้วยตาก็จะนึกว่า น้ำสะอาดใส แหมมีน้ำมากดี แม้แต่วัวที่ชาวบ้านเลี้ยง ก็ยังหลงลงไปกินน้ำ แต่กินแล้วปากเปื่อย เป็นแผลนานเชียว เพราะน้ำนั้นมีฤทธิ์เป็นกรดกำมะถัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็จะเสด็จฯ ไปกับผู้เชี่ยวชาญ ของกรมชลประทาน และก็ข้าราชการอีกหลายคน พยายามคร่ำเคร่งหาวิธีแก้ไขน้ำเปรี้ยว และดินเปรี้ยว ทรงหาวิธีระบายน้ำเปรี้ยว ออกทะเลไป แรกๆ ก็ระบายลงคลองธรรมชาติ ก็เกิดปัญหา ปลาที่ชาวบ้านเลี้ยงในคลองตายไป ก็เลยมีคำว่า ปลาร้องไห้ เพราะว่าเลี้ยงไว้ไม่เท่าไรปลาก็ตายหมด เพราะน้ำเปรี้ยวมันลงมา

ทำให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นทุกข์พระทัย เพราะทรงสงสาร ห่วงประชาชนผู้มีอาชีพเลี้ยงปลา แต่เดี๋ยวนี้น้ำหายเปรี้ยวแล้ว ทรงขับรถเองตลอด ไม่ว่าจะเสด็จฯ ไปเยี่ยมราษฎรที่ไหน พร้อมกับแผนที่ประจำพระหัตถ์ตลอดเวลา ตอนหลังก็ขุดคลองระบายน้ำเปรี้ยว แถมมีประตูระบายน้ำเอาไว้จัดการกับน้ำ ๓ รส ข้าพเจ้าเองก็อ่านไปอย่างนั้น ไม่เข้าใจเท่าไร กักน้ำจืดไว้บ้าง กักน้ำเปรี้ยว น้ำเค็มไว้บ้าง เปิด ปิด ตามวิธีการของพระองค์ จนเดี๋ยวนี้น้ำเปรี้ยวในพรุลดลงไปมากแล้ว ดินเปรี้ยวจัด พระองค์ก็ทรงใช้วิธีของท่าน ที่เรียกว่า แกล้งดิน จนดินคลายความเปรี้ยวลง ที่ดินเปรี้ยว เพราะดินในเขตชายทะเลภาคใต้ เป็นดินตะกอนน้ำทะเล มีสารประกอบกำมะถันอยู่ในตัวตามธรรมชาติ

ถ้าดินแห้งจะมีฤทธิ์เป็นกรดกำมะถัน ถ้ามีน้ำแช่ขังอยู่ เช่น ได้ทดลองตามโครงการแกล้งดิน ได้นำไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในภาคใต้ได้ จนสามารถปรับปรุงที่นาที่ถูกทิ้งร้างมา ๒๐ ๓๐ ปี ให้นำมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าแสนไร่ เช่น นราธิวาส ปรับได้สองหมื่นกว่าไร่ นครศรีธรรมราชสองหมื่นกว่าไร่ ปัตตานีหมื่นกว่าไร่ เป็นต้น พื้นที่นอกเขตพรุและในเขตพรุบางส่วน ชาวบ้านใช้ประโยชน์ได้มาก เมื่อก่อนปลูกข้าวได้แค่ไร่ละสี่ห้าถัง เดี๋ยวนี้เพิ่มเป็น ๕๐ ถังแล้ว ยังปลูกพืชผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์อะไรต่อมิอะไรได้หลายชนิด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นชาวบ้านมีความสุข ก็รับสั่งว่าชื่นใจ แต่กว่าชาวบ้านจะแจ่มใสอย่างนี้ ทรงเหนื่อยอยู่หลายปี มีผู้สนใจวิธีการของพระองค์ท่าน ก็ไปศึกษาที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จ.นราธิวาส ซึ่งทรงตั้งขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นี่โปรดแผนที่มากที่สุด เวลาเสด็จฯ ไปเยี่ยมราษฎร ทรงขับรถเอง แล้วก็มีแผนที่ติดพระองค์เสมอ และทรงใช้ประโยชน์จากแผนที่อย่างเต็มที่ อย่างเสด็จฯ ไปคุยกับราษฎร ก็จะรับสั่งถามว่ามาจากที่ไหน บ้านช่องเขาอยู่ที่ไหน เขาก็จะบอกว่าเขาอยู่ที่นั่นที่นี่ เดี๋ยวนี้มีหมู่บ้านใหม่เพิ่มขึ้นแล้ว และคนก็อยู่เย็นเป็นสุขขึ้น

ก็จะทรงทำแผนที่เทียบกับแผนที่ปัจจุบัน และทำเครื่องหมาย เวลาขับรถไปตามพื้นที่ไหนๆ ทรงซักถามชาวบ้าน ชื่อหมู่บ้าน ชื่อถนน แม่น้ำลำคลอง ว่า ถูกต้องตรงตามแผนที่หรือไม่ มีหมู่บ้านเพิ่มขึ้นมาใหม่ไหม แหล่งน้ำอยู่ตรงไหนบ้าง ไกลไหม จะทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตร เวลาประทับลงเรือที่ภาคใต้ ก็ทรงมีขวดน้ำไว้ พอประทับ เรือวิ่ง ท่านก็เอาขวดน้ำช้อนน้ำขึ้น ใส่ขวด แล้วไปทดสอบความเปรี้ยวของแต่ละแห่งทุก ครั้ง แหม เขามีรูปเยอะเชียว

ทุกโครงการพระราชดำรินั้น จะทรงสั่งการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลา อย่างโครงการมูโนะเนี่ย ทรงได้รับคำร้องจากประชาชน ทั้งไทยอิสลาม ทั้งไทยพุทธ เป็นจำนวนไม่น้อยว่า เขานี่ไม่มี ไม่มีที่ดินทำกินเลย ยากจนยังไง ลำบากยังไง ก็ทรงปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ ที่ทรงรู้จักหลายคน ก็ทรงตั้งขึ้นว่า เป็นโครงการมูโนะ เป็นโครงการชลประทาน เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน ปัญหาน้ำเปรี้ยวจากพรุโต๊ะแดง และป้องกันน้ำเค็ม ไหลเข้าพื้นที่เพาะปลูก ครอบคลุมพื้นที่ อ.สุไหงโกลก และตากใบ เป็นพื้นที่ประมาณ ๑๑๐,๐๐๐ ไร่

เพื่อให้ประชาชนมีทางทำมาหากิน และโครงการมูโนะนี่ทรงทดลองจัดตั้งหมู่บ้านปศุสัตว์และเกษตรมูโนะขึ้น เป็นหมู่บ้านตัวอย่างในการพัฒนาอาชีพ ชาวบ้านทั้งไทยพุทธ และ มุสลิม ที่ไม่มีที่ทำกินได้มาขอความช่วยเหลือ ก็ทรงส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงโค เป็ด ไก่ ทำไร่นาสวนผสม ข้าพเจ้าก็ให้ทำงานศิลปาชีพด้วย ขณะนี้มีสมาชิกโครงการอยู่ ๓๖ ครอบครัว สมัยเมื่อ ๓๖ ปีที่ผ่านมา ที่จะเข้าไปในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ต้องลุยฝน ลุยโคลน และแม้แต่ลุยทากเป็นประจำ แต่พระองค์ท่านก็ทำอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย บางครั้งก็ทรงขับรถข้ามแม่น้ำเพื่อจะไปอีกฝั่ง ไปเยี่ยมราษฎรอีกฝั่ง

ภาคกลางที่ทรงห่วงมาก ก็ปัญหาเรื่องน้ำท่วม ปัจจุบันนี้ประชาชน ก็คงคุ้นเคยกับศัพท์คำหนึ่ง ที่ทรงใช้ ที่เกี่ยวกับการเก็บกักน้ำแล้ว คือ คำว่า “แก้มลิง” โครงการแก้มลิงนี้ มีอยู่ทั่วไปในภาคกลาง โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้ๆ ทะเล ได้ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ในฤดูน้ำหลาก และบางที่ก็ช่วยให้มีน้ำใช้ในฤดูแล้งด้วย ผลงานสำคัญตามพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งในภาคกลาง ก็เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนขุนด่านปราการชล เป็นต้น

ข้าพเจ้าเองได้ยินมาว่า ตั้งแต่สร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เสร็จมา กรุงเทพฯ ยังไม่เคยมีน้ำท่วมใหญ่เลย นับว่าประหยัดเงินของชาติ ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ไปได้มาก ถ้านับรวมๆ หลายปีก็น่าจะคุ้มค่าก่อสร้างเขื่อนแล้ว จากนี้ไปก็เป็นกำไรของประเทศชาติเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีโครงการพระราชดำริมากกว่า ๓,๐๐๐ โครงการ ทั่วประเทศ ทรงมุ่งให้ราษฎรให้กินดี อยู่ดี ขึ้นทุกภาค งานที่ทรงทำนี่ ทำโดยไม่มีวันหยุดมาเกือบ ๖๐ ปีแล้ว ทรงทำโดยไม่เบื่อหน่าย เพราะเป็นงานที่ทรงทำ ด้วยความรักที่มีต่อประชาชน ในห้องทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะมีแต่แผนที่ประเทศไทยทุกภาคเต็มไปหมด

เพราะว่าโปรดเรื่องแผนที่มาก แล้วก็ โดยที่ทรงสนพระทัยแผนที่นี่ ก็ทรงสามารถติดต่อกับประชาชนที่มาเฝ้าฯ กันเป็นหมื่นๆ คนได้ จะทรงถามว่าเขาอยู่ที่ไหน หมู่บ้านชื่ออะไร เป็นหมู่บ้านกี่หลังคาเรือน แล้วเวลานี้มีหมู่บ้านที่ติดกันเพิ่มขึ้นใหม่หรือไม่ ก็ทรงได้ข้อมูลใหม่ๆ แล้วก็ทรงดูแลความเจ็บป่วยของประชาชน พวกที่ลูกมากยากจน ขาดการศึกษา อันนี้ข้าพเจ้าก็เลยโชคดี พวกที่ลูกมากแล้วก็ยากจนนี่ ข้าพเจ้าก็ชวนเขามาที่ภาคกลาง มาอยู่ที่ในวังหลวง แล้วก็มาฝึกศิลปาชีพ การฝีมือต่างๆ การทำโลหะอะไรต่างๆ ซึ่งได้ผลดีมาก แล้วก็ขณะนี้ ก็แสดงอยู่ ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม

ข้าพเจ้าปลื้มใจมาก เพราะว่ามีเพื่อนต่างชาติไปดู แล้วเขาก็ชม ข้าพเจ้าก็คิดว่าเขาคงชมด้วยใจจริง เห็นฝีมือของชาวบ้าน ที่ทำศิลปาชีพสวยงามมาก เขาบอก นี่เป็นฝีมือหนึ่งของโลกนี่ จากเด็กที่ยากจน พ่อแม่มีลูก ๘-๙ คน ข้าพเจ้าก็จะเอามาครอบครัวละ ๒ คน แล้วก็มาอยู่ที่ในวังหลวง พอเช้าขึ้นมา ก็เอารถมารับ มาที่โรงงาน ที่สวนจิตรลดา ฝึกงานต่างๆ สอนเขา เงินเขาทุกวัน ที่เขามาทำงาน ฝึกงานกับเรา และเขาก็เก็บเงิน และส่งไปให้พ่อแม่ ก็มีความสุขมาก และเดี๋ยวนี้พวกที่ยากจนที่สุด จบ ป.๓ บางทีไม่จบประถม ๔ เลย จบ ป.๓ บางคนก็ไม่ได้เรียนเลย กลายเป็นคนที่เรียกว่า ชาวต่างชาติมาดูแล้วบอกว่า นี่ มือหนึ่งของโลก

อันนี้ ทำให้ข้าพเจ้าปลื้มใจที่สุด และภาคภูมิใจในมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ที่ข้าพเจ้าตั้งมา ถ้าเผื่อข้าพเจ้าไม่ได้ตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ จะไม่มีวันได้รู้ว่า คนไทยของเรา หรือผู้ที่อยู่ในประเทศไทยของเรา เป็นคนที่เก่งเช่นไร ถ้าได้โอกาสในชีวิตแล้ว เขาจะพุ่งไปไกล ทำอะไรก็ทำได้ทั้งนั้น ไม่มีที่เรียกว่า ไม่รู้จะทำอะไร ทำไม่ได้ อะไรเช่นนี้ คนไทยนี่เก่งจริงๆ ไม่ว่าจะหยิบที่ภาคเหนือ ภาคใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง เก่งทั้งนั้น เป็นคนที่ คนไทยทุกคนควรภาคภูมิใจว่า มีเพื่อนร่วมชาติที่เก่ง ขอโอกาสสักนิดเดียวเท่านั้น เขาไปลิ่วทีเดียว กลายเป็นมือหนึ่งของโลก

ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่า ข้าพเจ้าได้รับเชิญจากเพื่อนว่า ขอให้ไปสหรัฐอเมริกาอีก ข้าพเจ้าก็คิดอยากจะไป เพราะว่าไปทีไร ทางสหรัฐอเมริกา ได้ให้ความเอาใจใส่ และดูแลอย่างดีเลิศ ดีมากเลย มิหนำซ้ำในรัฐสภาเขาจะพูดถึงว่า ประเทศไทยคนไทยเก่งมาก เป็นคนที่เก่ง และพระเจ้าแผ่นดิน เป็นคนที่มีความสามารถ และพระราชินีของท่านกำลังจะมา เขาพูดกันในสภาว่า let us welcome her น่ารักมากคนอเมริกัน น่ารักจริงๆ ข้าพเจ้ายังปลื้มมาก คือ ไม่เคยคิดถ้าท่านยังสงสัยอยู่ ให้ท่านไปที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ไปดูผลงานที่คนไทยที่จบแค่ ป.๓ หรือไม่ได้เรียนเลย ที่เขาสามารถประดิษฐ์อย่างแกะสลัก เนี่ย โหสวยงามเหลือเกิน ชิ้นเบ้อเร้อสวยงามมาก แกะสลักเป็น ๓ ยุคด้วยกัน อยู่ไหนก็ไม่รู้ จรุงจิตต์จ๋า ๓ ยุค ๓ ยุคด้วยกัน แหมชื่อยาก

๔ ยุคหรอแค่ ๓ ก็แย่แล้ว อันนี้เป็น ข้าพเจ้าไม่ได้รู้เอง พรรคพวกข้าพเจ้าไปอ่านมาว่า ข้อมูลจากหนังสือไตรภูมิ เทพฤๅษี และคนธรรพ์เฝ้าพระอิศวร อยากทราบว่า แก้ว ๙ ประการเกิดขึ้นได้อย่างไร พระอิศวร บอกให้ไปถามพระฤๅษีชื่อ อังคต เพราะเป็นฤๅษีอายุยืนที่สุด ตั้งแต่สร้างโลกมา ฤๅษีอังคตเกิดในยุคกฤติยุค ยุคนี้ข้าพเจ้าเพิ่งทราบ และเพิ่งเคยได้ยินว่า กฤติยุคเป็นยุคที่บริบูรณ์ไปด้วยคุณงามความดี ที่ข้าพเจ้าต้องทราบเพราะว่า ชาวศิลปาชีพของข้าพเจ้าเอง เด็กที่เอามาตั้งแต่เล็กๆ เป็นผู้แกะสลักใช้เวลานานมากเลย แกะสลักยุคต่างๆ บนไม้สักเนี่ย

ยุคที่ ๒ ชื่อว่า ไตรดายุค เป็นยุคที่มีความดี ๓ ส่วน ความไม่ดี ๑ ส่วน ยุคที่ ๓ ชื่อ ทวาบรยุค เป็นยุคที่ความดี และความไม่ดี เสมอกันครึ่งต่อครึ่ง พอมาถึงยุคนี้เป็นยุคที่ข้าพเจ้าอยู่ ใจหายใจคว่ำ ชื่อว่า กลียุค แหมไม่ค่อยดีเลยนะ กลียุค เป็นยุคที่มีความดีส่วนเดียว ความไม่ดี ๓ ส่วน แล้วเขาบรรยายต่อไปว่า กลียุค คือ ยุคปัจจุบันที่พวกเรา ที่ข้าพเจ้ากับพวกท่านทั้งหลายอยู่เนี่ย คือ กลียุค ต่อจากกลียุค เขาก็บอกจะเกิดไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก มีลมหอบ แผ่นดินไหว แผ่นดินแยก ข้าพเจ้าก็ไม่อยากรู้แล้วต่อไป บอกว่า เขาเขียนว่า ใครอยากรู้มากกว่านี้ ให้อ่านจากหนังสือไตรภูมิพระร่วง แต่หวังว่าคงจะไม่เกิด

ผลงานศิลปาชีพ ถึงจะอยู่กลียุค ก็ยังมีผลงานของศิลปาชีพ เป็นนักศิลปาชีพฝีมือ ที่ชาวต่างประเทศบอก ระดับ ระดับ ๑ ของโลกเนี่ย ก็ยังภูมิใจถึงจะอยู่ในกลียุคก็ตาม ดั่งที่ข้าพเจ้าได้นำภาพส่วนหนึ่งมาให้ท่านดู ให้ท่านทั้งหลายชม แล้วยังมีจัดแสดงอยู่ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ท่านที่ประสงค์จะชมของจริง ก็ยังไปชมได้ ทุกครั้งที่ข้าพเจ้ามีโอกาส ที่ได้ออกนอกประเทศ ข้าพเจ้าจะให้จับสลากกัน ให้พวกคณะศิลปาชีพเด็กหนุ่มสาวของข้าพเจ้า จับสลากกัน แล้วให้ส่วนหนึ่งได้ตามเสด็จได้ ตอนที่ข้าพเจ้าได้รับเชิญจาก ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส ให้ไปแสดงผลงานศิลปาชีพ บนหอไอเฟล ข้าพเจ้าก็รู้สึกซาบซึ้ง ในประธานาธิบดี และมาดาม ที่ให้โอกาสศิลปาชีพได้ไปแสดงผลงานที่งดงามที่หอไอเฟล มียอดผู้เข้าชมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติครั้งนั้น ประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ คน แหม จัดข้างบนแล้วสวย และปลื้มใจ และก็ภรรยาประธานาธิบดีก็ไปจับมือกับเด็กศิลปาชีพ ที่ไปกับข้าพเจ้า จับมือทุกคน หลังจากได้ดูฝีมือการทำงานของเขา แล้วก็ไปจับมือทุกคน บนหอไอเฟลนั่น ทำให้ปลื้มมาก

โรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดาขณะนี้ มีนักเรียนที่ยากจน แต่ไม่ได้ยากจนสติปัญญาเลย ยากจน ๗๐๐ คน มีครู ๕๐ คน แล้วก็จำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพต่างๆ ที่สวนอัมพร ระหว่าง ๑๘ กรกฎา ถึง ๒ สิงหานี้ และก็น่าปลื้มใจที่คนไทยทั้งหลายก็ช่วยกันไปสนับสนุน ไปดู ไปซื้อของ เท่าที่จะซื้อได้ และก็ที่ฮิตมาก ก็คือ ที่พัทลุง เขาคิดทำ เอาผักต่างๆ นี่มาทำเป็นข้าวเกรียบ พอทอดข้าวเกรียบผัก คนมาเข้าคิวยาวเชียว ว่า อร่อยมาก อันนี้ ข้าพเจ้าปลื้ม ทอดข้าวเกรียบขายนี่ก็ตั้งแต่เช้าจรดเย็น จนคนทอดนี่เหนื่อย และตะโกนบอกคนที่เข้าคิว วันนี้อย่ามาซื้อเลย ไม่อร่อยหรอก ข้าวเกรียบ แหม ไล่คนไปเสียอีก ข้าพเจ้าบอกทำไมอย่างนั้น ไม่พยายามฝืนใจ เหนื่อยก็เหนื่อย ก็สู้ เขาบอกสู้มาจนเช้าแล้ว จนใกล้ค่ำแล้ว เลยบอกว่าอย่าเข้า อย่าเข้าคิวเลย ไม่อร่อยหรอกวันนี้ ไม่อร่อย แต่ประชาชนก็มาช่วยเหลือ เพราะเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพนี่เป็นฝีมือของชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนา ที่ยากจน

เหมือนกับว่าคนไทยมาช่วยคนไทยด้วยกัน เงินทองก็จะได้หมุนเวียนกลับไปสู่คนไทยมากขึ้น อีกทั้งเป็นการหมุนเวียน ไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง ทั่วประเทศ หลายแสนครัวเรือน ข้าพเจ้าปลื้มมาก ที่ท่านทั้งหลาย ประชาชนทั้งหลาย ได้ไปชมงานศิลปาชีพที่สวนอัมพร แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ที่ชื่นชมศิลปาชีพจริงๆ อย่างเขาไปนี่เขาแต่งกายด้วยผ้าของศิลปาชีพ ที่เขาซื้อเมื่อปีที่แล้ว หรือถือกระเป๋าของศิลปาชีพ หรือตะกร้าศิลปาชีพ เมื่อพบกันก็ชื่นชมซึ่งกันและกัน ชวนกันอุดหนุนผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ๆ เจ้าหน้าที่ศิลปาชีพเห็นแล้วก็ชื่นใจ เพราะจำได้ จำได้แต่ละคนว่าคุ้นหน้า มาอุดหนุนเสมอ จนกระทั่งคุ้นหน้ากัน

ผลิตผลจากเกษตรก็เหมือนกัน ข้าพเจ้าก็ได้สร้างฟาร์มตัวอย่างในหลายจังหวัด เพราะบางทีบางจังหวัด ไม่ปลอดภัย ที่จะไปซื้อข้าวของที่ตลาด เช่น ขี่มอเตอร์ไซค์ไป ไปจ่ายของที่ในตลาด ก็มักจะเสียชีวิตเสมอ ก็เลยช่วยกันคิดว่าอย่าเลย เราสร้างเป็นคล้ายๆ ตลาดของศิลปาชีพ ที่ในหมู่บ้านต่างๆ ก็แล้วกัน จะได้ใช้จ่ายกันได้ดี และไม่ต้องเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วย อย่างพัทลุงนี่ ทำข้าวยำผักใต้อร่อยที่สุด ข้าพเจ้ายังไปชิมที่พัทลุง ที่โครงการศิลปาชีพที่พัทลุง เก่งมาก และเดี๋ยวนี้เป็ดอี้เหลียง ซึ่งทางเมืองจีนให้ข้าพเจ้า ตอนที่ข้าพเจ้า ไปแทนพระองค์ที่เมืองจีน เป็ดอี้เหลียง เดี๋ยวนี้ก็มาทำลาบเป็ด ทำเท่าไรก็หมดเท่านั้น ดอกไม้ทอดจากพัทลุง หมูจินหัวแดดเดียว ข้าวสารหลายชนิด ข้าพเจ้าก็เที่ยวไปดู ตามที่เขาเอาออกมาแสดงจังหวัดต่างๆ

ข้าวสังข์หยด และข้าวเกรียบรสต่างๆ ที่ชาวบ้านทำจากผักต่างๆ เราก็เอามาทำรับประทานกัน ทีนี้ขอคุยอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องโขน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็ได้มีการจัดแสดงโขนชุดพรหมมาศ เรื่องโขนเนี่ย สมเด็จเจ้าฟ้า ลูกสาวข้าพเจ้า สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ เป็นห่วงเหลือเกินว่า โขนไม่ค่อยแสดง เพราะเสื้อผ้าก็ทรุดโทรมเก่า ไม่ได้แสดงแล้ว ทั้งๆ ที่มีคนที่ฝีมือดีที่จะแสดงโขนได้ แต่ก็แสดงไม่ได้เนื่องจากเงินจำกัด แล้วเสื้อผ้าก็เก่า ก็พระราชทานสร้างชุดโขนขึ้นใหม่อีก แล้วก็มีการซ้อม พวกครูโขนที่เก่งต่างๆ ก็ซ้อมลูกศิษย์ แล้วก็แสดงให้ประชาชนดูเมื่อเร็วๆ นี้เอง

สมเด็จพระเทพฯ เล่าเป็นห่วงมาก ว่า โขนเป็นของที่วิเศษ อย่างที่อินโดนีเซีย เขายังรักษาของเขาไว้ แต่ของเราเนี่ย นับวันเนี่ยเสื้อผ้ามันแพง นับวันจะไม่ได้แสดง ก็กลัวว่าจะหายไป จากความนิยมของคนไทย ข้าพเจ้าก็ปรึกษากับอาจารย์สมิทธิ ศิริภัทร แล้วอาจารย์สมิทธิ ก็ไปรวบรวมผู้รู้หลายคน ศึกษาค้นคว้า จัดสร้างเครื่องแต่งกายของโขน หัวโขน เครื่องประดับต่างๆ คราวนี้งดงามมาก เครื่องแต่งกายโขนเมื่อได้สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว สวยงามเหลือเกิน นับว่า คุ้มค่าในการรอคอยจริงๆ แสดงโขนเมื่อเร็วๆ นี้ ท่านทั้งหลายบางคนคงได้ชมแล้ว เห็นว่าประชาชนมาชมกันแน่นขนัด จนเพิ่มรอบการแสดงแล้วก็ยังไม่เพียงพอ ยังมีผู้ขอร้องให้จัดแสดงอีก

น่ารักที่ลูกพาคนแก่ พ่อแม่หรือปู่ย่าตายายที่แก่ๆ จูงมือกันไปดูโขนที่ทำขึ้นใหม่ สำเร็จใหม่นี้ เห็นว่าสวยงามมากเลย อุปกรณ์การแสดงก็เรียบร้อย เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายชื่นใจ หายเหนื่อย เพราะได้รับคำชมจากประชาชนมากเลย เขามีรูปเสื้อผ้าโขนที่สร้างขึ้นใหม่ การแสดงโขนครั้งนี้ไม่ใช่จะประสบความสำเร็จเพียงแค่ได้เผยแพร่ศิลปะ การแสดงชั้นสูงของไทยเราเท่านั้น แต่ยังเกิดสิ่งที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้นมาอีก คือพวกเราได้สร้างช่างฝีมือรุ่นใหม่เอี่ยมขึ้นมา รุ่นใหม่ที่เข้าใจถ่องแท้ถึงศิลปะการสร้างเครื่องแต่งกายโขน และได้เห็นความผูกพันอย่างใกล้ชิดแบบสังคมไทยสมัยโบราณ ลูกหลานจูงพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย คนแก่ในบ้าน ไปดูโขนครั้งนี้ ได้เห็นการแสดงความรัก เอื้ออาทรต่อกันในครอบครัว ก็เป็นภาพที่สร้างความสุขใจแก่ผู้พบเห็นทุกคน

และเสียงที่เรียกร้องว่า ให้จัดการแสดงโขนขึ้นอีกนั้น ข้าพเจ้าก็รับฟัง และกำลังตรึกตรองว่า จะเลือกตอนไหนมาจัดแสดงใหม่ แต่ก็ต้องฝึกซ้อมนานหน่อย ขอให้ นี่เขาสั่งให้ข้าพเจ้าพูดว่า ขอให้แฟนๆ โขนคอยติดตามข่าวต่อไป เขาสั่งมา อย่าลืมรับสั่งตรงนี้ให้ได้ โฆษณาไปในตัวรับรองว่า ต่อไปต้องมีให้ชมแน่นอน ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าต้องขอขอบคุณกรุงเทพมหานคร และสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ร่วมกันจัดนิทรรศการโขนชุดพรหมมาศ ที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร ซึ่งประชาชนก็ได้ชมความงดงามของเครื่องแต่งกายโขนทุกชนิด หัวโขน เครื่องประดับต่างๆ พร้อมทั้งอุปกรณ์การแสดงที่สำคัญ มีช้างเอราวัณเป็นต้น ทีนี้ใครเป็นผู้เชี่ยวชาญการโขนขอช่วยแนะนำข้าพเจ้าว่า คราวหน้าจะเอาตอนไหนมาแสดงดี ได้ช่วยกัน

ต่อไปก็จะขอเล่าเรื่อง แนวปะการังเทียมที่ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี ชาวประมงบ้านละเวง อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี มาหาข้าพเจ้า และขอร้องให้ช่วยเหลือ เพราะว่าเขามีอาชีพอยู่อย่างเดียว คือออกเรือไปเป็นเรือเล็กๆ เพราะเป็นคนจนมาก ออกเรือแล้วไปตกปลา จับปลาได้ก็มาขาย ก็ได้เงินเลี้ยงชีพ และก็ปลาที่เหลือก็รับประทาน ทีนี่เรื่องปลาในเขตน้ำตื้นร่อยหรอจ นแทบไม่มีเหลือแล้ว ข้าพเจ้าเองจนปัญญา ก็ปรึกษากันกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ก็ได้รับคำแนะนำว่า ให้ลองทดลองสร้างแนวปะการังเทียมขึ้น อันนี้เป็นความคิดที่เรียกว่า ข้าพเจ้าไม่เคยรู้มาก่อนเลย ก็ได้อาศัยราษฎรเนี่ย ได้รับความรู้ต่างๆ ขึ้นมา ให้สร้างปะการังเทียมขึ้น เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ข้าพเจ้าก็ได้เปิดโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลขึ้น ใน พ.ศ.๒๕๔๔

ที่ จ.นราธิวาส มีหน่วยงานหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ สนับสนุนโครงการนี้ เป็นโครงการที่น่าชุ่มชื่นใจ เพราะว่าเป็นการยกระดับชีวิต ของคนที่ยากจน และแทบจะไม่มีหวัง ยากจ๊น ยากจน และผู้สนับสนุนโครงการนี้ เช่น กรมประมง กองทัพเรือ การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง อย่างการรถไฟแห่งประเทศไทย บริจาคตู้รถไฟที่ชำรุด ข้าพเจ้าเห็นแล้วก็งงว่า เอ๊ะ ไอ้รถตู้รถไฟ มันจะมาทำช่วยให้ปลาชื่นชมได้ยังไง ก็งง ตอนนั้นไม่มีความรู้อะไรทั้งสิ้น แต่การรถไฟฯ เขาบริจาคตู้รถไฟที่ชำรุด กรมทางหลวงก็บริจาคท่อคอนกรีต เป็นต้น ต่อมากรุงเทพมหานครก็ยังช่วยบริจาครถขนขยะที่ชำรุดอีกด้วย โอ๋ เนี่ย ข้าพเจ้าได้เรียน เป็นพระราชินีไม่รู้เรื่องอะไรเลย

ได้เรียนจากความต้องการของประชาชน และได้เรียนที่ท่านทั้งหลายได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และก็ทิ้งลงไปในทะเลที่เขากะแล้วว่า ที่ตรงนี้ทิ้งได้ ปะการรังเทียม แล้วเขาก็ ทางกองทัพเรือก็ไปถ่ายหนังมาให้ข้าพเจ้าดู โอ้โห ตกใจ พอเราทิ้งอะไรต่ออะไรต่างๆ ลงไปแล้ว ไอ้ปลามันขนโขยงมากันใหญ่ มันนึกว่า แหมนี่มีบ้านที่ดีของเราแล้ว มันมากันเป็นแถวเชียว เขาถ่าย ถ้าเขาไม่ไปถ่ายหนังให้ดูก็ไม่รู้ แหมมันมามากมายก่ายกอง ซึ่งประชาชนมาบอกข้าพเจ้า บอก โอ๊ยตอนนี้สบาย จับปลาได้ดีเลยตอนนี้ มันมากันเป็นแถว แล้วปลาต่างๆ ที่หายากก็เข้ามา ถ้าทิ้งลึกลงไปปลาใหญ่ๆ เมื่อไม่นานมานี้ข้าพเจ้าก็ได้รับรายงานว่า เขาได้ถ่ายหนังภาพของฝูงปลานานาชนิด เข้ามาอาศัยอยู่ในแนวปะการังเทียม แม้แต่ปลาที่หายากที่สุด

กรมประมงบอกหายากแทบไม่ได้เห็น คือ ปลาหมอทะเลตัวใหญ่เบ้อเริ่ม ขนาด ๒ - ๓ เมตร ก็เข้ามา เข้ามาหาที่อยู่ที่นี่ ข้าพเจ้าได้ยินแล้วมหัศจรรย์ใจ ไม่เคย เป็นความรู้ใหม่ทั้งนั้นเลย ปลาจะละเม็ด สีเทา ซึ่งแต่ก่อนก็ไม่มีแล้ว ปลาช่อนทะเล ปลากุเลา ก็เข้ามาได้ ชาวประมงพื้นบ้านก็มาหาข้าพเจ้า บอกแหม ดีท่าน เดี๋ยวนี้พวกเราไม่ต้องออกไปไกลก็จับปลาได้มากขึ้น จากแทบจะว่าไม่มีรายได้ กลับมามีรายได้เพิ่มขึ้น ถึงเดือนละหมื่นกว่าบาท ชาวบ้านจากยากจนเหลือเกิน แปลว่า คนที่มีความรู้ของเราเนี่ย ของประเทศไทยเรามีมาก และพร้อมเสมอจะช่วยชาติบ้านเมือง

ปีนี้ กลุ่มประมงพื้นบ้าน ตั้งแต่ปัตตานี ถึงนราธิวาส หลายร้อยคน เขียนจดหมายถึงข้าพเจ้า และก็เซ็นชื่อเป็นบัญชีหางว่าวเลย ขอให้ข้าพเจ้าช่วยจัดทำปะการังเทียมเพิ่มเติมขึ้นอีก และตอนนี้ใครจะช่วยข้าพเจ้าล่ะตอนนี้ จะเอาอะไรไปทิ้งให้ปลามันอยู่ ข้าพเจ้าจึงนำมาเล่าให้ท่านทั้งหลายฟังว่า ปะการังเทียมนั้นน่ะ ใช้ได้ผลจริงๆ น่าภูมิใจแทนหน่วยงานทั้งหลาย ที่ช่วยเหลือประชาชนนั้นประสบผลสำเร็จ และข้าพเจ้าก็เลยขอถือโอกาสนี้ส่งข่าวถึงกลุ่มประมงพื้นบ้าน ที่เขาเขียนจดหมายถึงข้าพเจ้า ขอปะการังเทียมเพิ่มด้วยว่า ข้าพเจ้าจะพยายามขอร้อง ขอให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และก็ทุกแห่ง ช่วยกันประสานงาน เชื่อว่าอีกไม่นานเกินรอก็คงจะเริ่มจัดสร้างพื้นที่บริเวณปะการังเทียมได้ อีก เพื่อประชาชนจะได้ไปตกปลา ไปทำมาหากินได้เพิ่มนะคะ ท่านนายกฯ

คราวนี้สบายหน่อย แหม เขาเขียนให้เป็นฉากๆ และคราวนี้ พระราชทานพันธุ์ข้าว ฤดูเพาะปลูกปีนี้ นายกสมาคมเครือข่ายสถาบันเกษตรกร จ.มหาสารคาม ก็แจ้งความเดือดร้อนมาว่า นาของเกษตรกร ๑,๕๐๐ ราย ในภาคอีสาน ๑๙ จังหวัด ประสบอุทกภัยและโรคแมลง ทำให้ไม่มีข้าวพันธุ์ดีที่จะปลูกต่อไป ราษฎรจึงมีจดหมายมาขอข้าวพันธุ์ดีจากข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้ส่งเรื่องไปที่กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องพันธุ์ข้าวโดยตรง เขาจะได้เป็นธุระจัดหาพันธุ์ข้าวให้ กรมการข้าวก็ได้รีบจัดพันธุ์ข้าวปลูกอย่างดี เป็นข้าวเจ้า พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ และข้าวเหนียวพันธุ์ กข.๖ อย่างละครึ่ง รวม ๗๕ ตัน มอบให้เกษตรกร เมื่อเดือนกรกฎา ที่ผ่านมา

ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทยมาแต่โบราณ ข้าพเจ้าเองก็ไม่เคยทราบว่า ข้าวเนี่ยมีประโยชน์อย่างเหลือหลาย พอโตขึ้นมาจะเป็นสาวเขาก็สอนกันว่า ถ้ากินข้าวมากจะพุงป่อง จะไม่ดีจะพุงป่อง จะอ้วน แต่มาตอนนี้ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือนิวสวีก และไทม์ แมกกาซีน เขาพูดถึงข้าว ว่าข้าวนี่เป็นอาหารที่ยอดเยี่ยมที่สุดของมนุษย์ เป็นแป้ง คาร์โบไฮเดรตที่อ้วนน้อยที่สุด เทียบกับขนมปัง เทียบกับสปาเก็ตตี้ เทียบกับเส้นอะไรต่างๆ ข้าวเนี่ยอ้วนน้อยที่สุด มีประโยชน์เหลือหลาย ส่วนที่มีประโยชน์จริงๆ อยู่ที่ผิวที่หุ้มเมล็ด ส่วนที่เมื่อกระเทาะเปลือกแข็งออกไปแล้ว ก็จะเห็นเป็นสีน้ำตาลกับจมูกข้าว ข้าพเจ้าเองก็เลยขอร้องพวกประชาชนที่เป็นสมาชิกศิลปาชีพ ให้ตำข้าวจากนาของเขาดนี่ย มาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับข้าพเจ้า เขาก็จะตำและส่งมาให้ตลอด

เพราะว่าฝรั่งเขียนว่า ข้าวนี่เป็นอาหารที่ยอดเยี่ยมที่สุด เพราะว่ามีวิตามินที่จะไปทำให้ร่างกายของเรานี่ ข้าพเจ้าอ่านว่า ๒๕ เซลล์ที่สมองก็เริ่มๆ จะเสียแล้ว เริ่มต้นแล้ว อายุ ๒๕ แล้วก็ เซลล์ต่างๆ จะเริ่มเสียไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นหมอที่อเมริกา จากทุกๆ หนแห่ง เขาพูดว่า เราเนี่ยควรจะรับประทานวิตามินรวม เพื่อให้เซลล์ในร่างกายของเราเนี่ยเสื่อมช้าลง และเขาก็พูดถึงข้าว ว่าข้าวเนี่ยถ้าไปเข้าโรงสีมากมายก่ายกอง ก็เป็นแค่แป้งเท่านั้นเอง แต่ถ้าเผื่อเรามากระเทาะ ตำเอง กระเทาะเปลือกข้างนอกออกนิดเดียว โห คุณค่าเหลือที่จะพรรณาเชียว จะไปช่วยซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ ที่กำลังจะชำรุดทรุดโทรม ไอ้เราก็คิดว่า ข้าวเนี่ยมันอ้วน อ้วนนะ ก็ไม่รับประทาน แต่ขอให้ทุกคนทราบเถอะว่า นิวสวีก เป็นหนังสือพิมพ์ของทั่วโลก และก็ไทม์ เขาบอกข้าวนี่ยอดเยี่ยมที่สุด มีวิตามิน บี ๑ บี ๒ มีธาตุเหล็ก มีแคลเซียม

แล้วก็ที่น่าสนใจสำหรับผู้สูงวัยเช่นข้าพเจ้าเป็นต้น คือ มีสารที่ช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกายด้วย ทุกคนกลับไปรับประทานข้าวเลยนะ เอาจริงๆ ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่อะไรมันอ้วนอยู่ดีเหมือนกัน แต่ว่ามันมีประโยชน์น้อยกว่าข้าว นี่เป็นที่ฝรั่งเขาพูดนะ อีกเรื่องที่ข้าพเจ้าชื่นชมเหลือเกินที่ทราบข่าวดีมาว่า เยาวชนของเราที่เก่งของเราเนี่ย อย่าง น.ส.นพวรรณ เลิศชีวกานต์ อายุ ๑๗ จากเชียงใหม่ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการแข่งขันเทนนิสวิมเบิลดัน ๒๐๐๙ ที่ประเทศอังกฤษ และก็ทราบว่า เยาวชนจากโรงเรียนมัธยมหลายแห่ง ได้รับรางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน ในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ เกี่ยวกับฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และชีววิทยา และนอกจากนี้ ยังมีทีมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลชนะเลิศ หุ่นยนต์กู้ภัยโลก แล้วก็โรงเรียนสุรนารีวิทยา โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย โรงเรียนเรยีนาเชลี ก็ได้รับรางวัลวงโยธวาทิตระดับโลก

มันแสดงให้ข้าพเจ้ามั่นใจ และปลื้มใจมาก และคิดว่า คนไทยทั้งประเทศคงปลื้มใจว่า คนไทยของเรานี่เก่ง เก่งจริงๆ ขอให้มีโอกาสในชีวิตเท่านั้น เป็นคนที่เก่ง อย่างข้าพเจ้าได้เห็นตัวอย่างตัวเองแล้ว สมาชิกส่งเสริมศิลปาชีพที่จบแค่ ป.๓ แล้วไม่ได้เรียนเลย ซึ่งบัดนี้ชาวต่างประเทศไปดูฝีมือที่พระที่นั่งอนันฯ บอกว่า เป็นฝีมือ ๑ ของโลกแห่งนี้ คนทีพูดเป็นคนที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้วย ข้าพเจ้าก็คือว่าเมื่อไหร่ที่ได้โอกาสไปที่สหรัฐอเมริกาก็จะพาพวกเขาไป แล้วจะเอาฝีมือที่เขาทำไปแสดงให้คนไทยที่อเมริกาได้เห็นด้วย ว่าเนี่ยคือคนไทยของเรา เรื่องพระบวรพุทธศาสนา ข้าพเจ้าเห็นคนทั้งหลายเป็นห่วง แต่ข้าพเจ้าเองเชื่อว่า ทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่ที่ว่าไม่ค่อยเข้าใจในพระพุทธศาสนา ก็คงจะไม่จริง ข้าพเจ้าทราบว่าเด็กไทยสนใจในพุทธศาสนามากขึ้น ไปนั่งปฏิบัติธรรม ไปเข้าค่ายธรรมะกันเป็นแถว

ข้าพเจ้าเองพออายุ ๗๐ ก็นึกอยากฟังพระเทศน์ วันพระใหญ่ก็จะไป ชักชวนพวกพ้องไปกันแน่นเชียว ไปที่วัดหนึ่งวัดใดขอให้ท่านช่วยเทศน์ให้ฟัง เปลี่ยนวัดไปเรื่อยๆ ไปฟังเทศน์ แล้วไปแล้วก็ตกใจ เห็นประชาชนมานั่งมารอเป็นแถว คอยที่จะฟังเทศน์ ข้าพเจ้าก็เลยจัดแจงให้มีลำโพงออกมา ให้ประชาชนที่มานั่งเนี่ยได้ฟังคำพระเทศน์ด้วย ซึ่งเขาก็คงจะภูมิใจ ถ้าใครว่าง ก็ชวนไปฟังเทศน์กับข้าพเจ้าได้ คราวที่แล้วฟังที่หัวหินนะ ที่วัด ที่หัวหิน รู้สึกจวนจะจบแล้ว ก็ขอบพระคุณในน้ำใจของทุกคนที่มาฟัง และก็คงจะช่วยกันให้เด็กไทยของเราได้รับโอกาส อย่างที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสช่วยเด็กศิลปาชีพ และได้เห็นฝีมือของเขา เพราะว่า ข้าพเจ้าเอาเด็กศิลปาชีพมา เขาอายุ ๑๓ ๑๔ ๑๕ มาสอนให้เขียนลายถมทอง

และก็เนี่ย ตัวการอยู่นี่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ หัวร่อข้าพเจ้า บอกแม่ จะเอาเด็กชาวบ้านมาให้ทำถมทองยังไง และเดี๋ยวนี้ เด็กชาวบ้านต่างๆ ทำยิ่งกว่าถมทองอีก ฝีมือสวยเหลือเกิน ที่ชาวต่างชาติมาดูและบอกว่า ฝีมือระดับโลกเลยเนี่ย ถ้าเผื่อข้าพเจ้ามีโอกาส มีโชคดี ความจริงเขาก็เชิญมาแล้ว ให้ไปสหรัฐอเมริกาตอนที่เรียกว่าเศรษฐกิจอะไรต่ออะไรของโลกค่อยดีขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าจะเอาเด็กเหล่านี้ไปให้ได้เห็นสหรัฐอเมริกา แล้วเอาฝีมือที่เขาทำไปประกวดด้วย ในที่สุดนี้ ข้าพเจ้าก็ขอขอบพระคุณทุกท่าน ซาบซึ้งในน้ำใจของทุกท่าน เป็นกำลังใจเหลือเกินที่ ๗๗ ปี จะได้กำลังใจอย่างนี้ แล้วก็จะไปฉิวได้อีก แหมตัวเลขฟังเสียงแล้วน่ากลัว ๗๗ ปี ขอขอบคุณนะคะ

กลับสู่ หน้าดัชนีพระราชดำรัส


สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๔๒ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗
ห้ามนำข้อมูลของเครือข่ายนี้ ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร