The official emblem for His Majesty the King's 6th Cycle Birthday Anniversary Celebrations, 5 December 1999 Welcome to Kanchanapisek Network Kanchanapisek Network logo


ENGLISH VERSION
หน้าแรก
พระราชประวัติ
พระราชพิธีกาญจนาภิเษก
พระราชกรณียกิจ
โครงการพระราชดำริ
พระราชดำรัส
พระราชอัจฉริยภาพ
เพลงพระราชนิพนธ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา
สยามบรมราชกุมารี

หน่วยงาน
ในเครือข่ายกาญจนาภิเษก

หน่วยงานที่ร่วมเสนอผลงาน
เกี่ยวกับเครือข่ายกาญจนาภิเษก
ความรู้เพื่อคนไทย
Site map
Milestones
Feedback

Main Banner

พระราชดำรัส
ในโอกาสที่ประธานศาลฎีกา (นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ)
นำผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เฝ้าฯ
ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่
ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล
วันอังคาร ที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙
(อย่างไม่เป็นทางการ)

PDF version

ถ้าจะปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาศาลฎีกาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อความปลอดภัยของประชาชน เมื่อตะกี้พูดกับผู้พิพากษาศาลปกครองก็ต้องขอให้ เดี๋ยวไป ไปปรึกษากับท่าน. เพราะว่าสำคัญที่ผู้พิพากษาทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายที่เป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา เพราะประธานศาลฎีกาเป็นโดยเฉพาะ. ในปัจจุบันนี้มีปัญหาด้านกฎหมายที่สำคัญมาก คือว่าถ้าไม่ได้ปฏิบัติ จะปฏิบัติตามที่ท่านได้ปฏิญาณว่าจะทำให้ประเทศชาติปกครองได้โดยแบบประชาธิปไตย. คือ เวลานี้ มีการเลือกตั้งเพื่อให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตยนั่นเอง. แต่ถ้าไม่มีสภาที่ครบถ้วน ก็ไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย. ฉะนั้น ก็ขอให้ไปปรึกษากัน ผู้ที่มีหน้าที่ในทางศาลปกครอง ในทางศาลอย่างที่มาเมื่อตะกี้ เพื่อที่จะเป็นครบ เป็นสิ่งที่ครบ. แต่ก่อนนี้มีมีอย่างเดียวมีศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลอาญา ศาลแพ่ง เดี๋ยวนี้มีศาลหลายอย่างอันนับไม่ถูก. ก็เมื่อมีก็ต้องให้ไปดำเนินการด้วยดี. ดังนั้น ก็ขอให้ไปปรึกษากับศาลอื่นๆ ด้วย จะทำให้บ้านเมืองปกครองแบบประชาธิปไตยได้. อย่าไปคอยที่จะให้ขอนายกพระราชทาน เพราะขอนายกพระราชทานไม่ได้เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย.

ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะอะไรก็ขอพระราชทานนายกพระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย. ถ้าไปอ้างมาตรา ๗ ของรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างที่ผิด. มันอ้างไม่ได้. มาตรา ๗ มี ๒ บรรทัดว่า อะไรที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ก็ให้ปฏิบัติตามประเพณีหรือตามที่เคยทำมา ไม่มี เขาอยากจะได้นายกพระราชทานเป็นต้น. จะขอนายกพระราชทาน ไม่ใช่เป็นเรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นการปกครองแบบ ขอโทษพูดแบบมั่ว แบบไม่ไม่ ไม่มีเหตุมีผล. สำคัญอยู่ที่ท่านที่เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา มีสมองที่ ที่แจ่มใส สามารถ ควรจะสามารถที่จะไปคิดวิธีที่จะปฏิบัติ. คือ ปกครองต้องมี ต้องมีสภา สภาที่ครบถ้วน ถ้าไม่ครบถ้วนเขาว่าไม่ได้. แต่ก็เขา แต่อาจจะหาวิธีที่จะ ที่จะตั้งสภาที่ไม่ครบถ้วน และทำงาน ทำงานได้. ก็รู้สึกว่ามั่วอย่างที่ว่า. ต้องขอโทษอีกทีนะ ใช้คำว่ามั่ว ไม่ถูก ไม่ทราบใครจะทำมั่ว แต่ว่าปกครองประเทศมั่วไม่ได้ ที่จะคิดอะไรแบบ แบบว่าทำปัด ๆ ไป ให้เสร็จ ๆ ไป. ถ้าไม่ได้ เขาก็โยนให้พระมหากษัตริย์ทำ ซึ่งยิ่งร้ายกว่าทำมั่วอย่างอื่น เพราะพระมหากษัตริย์ ไม่ ไม่มีหน้าที่ที่จะไปมั่ว. ก็เลยต้องขอร้องฝ่ายศาลให้คิดให้ช่วยกันคิด.

เดี๋ยวนี้ประชาชน ประชาชนทั่วไปเขาหวังในศาล โดยเฉพาะศาลฎีกา. ศาลอื่น ๆ เขายังบอกว่าศาล ขึ้นชื่อว่าเป็นศาล ดี ยังมีความซื่อสัตย์สุจริต มีเหตุมีผล และมีความรู้ เพราะท่านได้เรียนรู้กฎหมายมา และพิจารณาเรื่องกฎหมายที่จะต้องศึกษาดี ๆ ประเทศชาติจึงจะรอดพ้นได้. ถ้าไม่ทำตามหลักกฎหมาย หลักของการปกครองที่ถูกต้อง ประเทศชาติไปไม่รอด. อย่างที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ เพราะว่าไม่มี ไม่มีสมาชิกสภาถึง ๕๐๐ คน ทำงานไม่ได้. ก็ต้องพิจารณาดูว่า จะทำยังไงสำหรับให้ทำงานได้.

จะมาขอให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ตัดสิน. เขาอาจจะว่า รัฐธรรมนูญนี้ พระมหากษัตริย์เป็นคนลงพระปรมาภิไธย. จริง แต่ลงพระปรมาภิไธยก็เดือดร้อน แต่ว่าในมาตรา ๗ นั้น ไม่ได้บอกว่าพระมหากษัตริย์สั่งได้. ไม่มี ลองไปดูมาตรา ๗ เขาเขียนว่าไม่มีการ บทบัญญัติแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่ามีพระมหากษัตริย์ที่จะมาสั่งการได้. แล้วก็ขอยืนยันว่าไม่เคยสั่งการอะไรที่ไม่มีกฎเกณฑ์ของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย. พระราชบัญญัติต่าง ๆ ทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ทุกอย่าง. อย่างที่เขาขอบอกว่าขอให้มี ให้พระราชทาน นายกพระราชทาน ไม่เคย ไม่เคยมีข้อนี้ มีนายกแบบมีการรับสนองพระบรมราชโองการอย่างที่ถูกต้องทุกครั้ง. มีคนเขาก็อาจจะมา มาบอกว่าพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ เนี่ยทำตามใจชอบ. ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ. ตั้งแต่เป็นมา มีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แล้วก็ทำมาหลายสิบปี ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ. ถ้าทำไปตามใจชอบ ก็เข้าใจว่าบ้านเมืองล่มจมมานานแล้ว. แต่ตอนนี้เขาขอให้ทำตามใจชอบ. แล้วเวลาถ้าเขา ถ้าทำตามที่เขาขอ เขาก็จะต้อง ต้องด่าว่านินทาพระมหากษัตริย์ว่าทำตามใจชอบ. ซึ่งไม่ใช่กลัว ถ้าต้องทำก็ต้องทำ แต่ว่ามันไม่ต้องทำ. ต้องวันนี้น่ะอยู่ที่ผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็น เป็นสำคัญที่จะบอกได้. ศาลอื่น ๆ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลอะไรไม่มีข้อที่จะอ้างได้มากกว่าศาลฎีกา เพราะว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาที่จะมีสิทธิที่จะพูด ที่จะตัดสิน.

ฉะนั้น ก็ขอให้ท่านได้พิจารณาดู กลับไปพิจารณา ไปปรึกษากับผู้พิพากษาศาลอะไรอื่น ๆ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าควรจะทำอะไร แล้วต้องรีบทำ ไม่งั้นบ้านเมือง ล่มจม. พอดีตะกี้ดู ดูทีวี เรือหลายหมื่นตันโดนพายุ จมลงไป ๔ พันเมตรในทะเล. เขายังต้องดูว่าเรือนั้นลงไปอย่างไร. เมืองไทยจะจมลงไปลึกกว่า ๔ พันเมตร แล้วก็กู้ไม่ได้ กู้ไม่ขึ้น. ฉะนั้นท่านเองก็จะเท่ากับจมลงไป. ประชาชนทั่วไปที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ก็จะ จะจมลงไปในมหาสมุทร. เดี๋ยวนี้เป็นเวลาที่วิกฤตที่สุด ที่สุดในโลก. ฉะนั้นท่านก็มีหน้าที่ ที่จะปฏิบัติ ปรึกษากับผู้ที่มีความรู้ เพื่อที่จะเขาเรียกว่ากู้ชาตินั้นแหละ. เอะอะอะไรก็กู้ชาติ กู้ชาติ กู้ชาตินั่นน่ะ. เดี๋ยวนี้ยังไม่ได้จม ทำไมคิดถึงจะที่ไปกู้ชาติ. แต่ว่าป้องกันไม่ให้จมลงไป แล้วเราจะต้องกู้ชาติจริงๆ แต่ถ้าจมแล้วกู้ชาติไม่ได้ จมไปแล้ว. ฉะนั้นต้องไปพิจารณา ดูดี ๆ ว่าควรจะทำอะไร ถ้าทำได้ ปรึกษาหารือกันได้จริง ๆ ประชาชนทั้งประเทศ และประชาชนทั่วโลกจะอนุโมทนา. อาจจะเห็นว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาในเมืองไทยยังมี เรียกว่ายังมีน้ำยา และเป็นคนที่มีความรู้ และตั้งใจที่จะกู้ชาติจริง ๆ ถ้าถึงเวลา.

ก็ขอขอบใจท่านที่ตั้งอกตั้งใจที่จะทำหน้าที่. แล้วก็ทำหน้าที่ดี ๆ อย่างนี้ บ้านเมืองก็รอดพ้น ไม่ต้องกลัว. ขอขอบใจที่ท่านพยายามปฏิบัติโดยดี แล้วประชาชนจะอนุโมทนา. ขอบใจแทนประชาชนทั่วทั้งประเทศที่มีผู้พิพากษาศาลฎีกาที่เข้มแข็ง ขอบใจ. ขอให้ท่านสามารถที่จะปฏิบัติงานด้วยดี มีพลานามัยแข็งแรง ต่อสู้ ต่อสู้นะ ต่อสู้เพื่อความดี ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในประเทศ ขอขอบใจ.

กลับสู่ หน้าดัชนีพระราชดำรัส


สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๔๒ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗
ห้ามนำข้อมูลของเครือข่ายนี้ ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร