The official emblem for His Majesty the King's 6th Cycle Birthday Anniversary Celebrations, 5 December 1999 Welcome to Kanchanapisek Network Kanchanapisek Network logo


ENGLISH VERSION
หน้าแรก
พระราชประวัติ
พระราชพิธีกาญจนาภิเษก
พระราชกรณียกิจ
โครงการพระราชดำริ
พระราชดำรัส
พระราชอัจฉริยภาพ
เพลงพระราชนิพนธ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา
สยามบรมราชกุมารี

หน่วยงาน
ในเครือข่ายกาญจนาภิเษก

หน่วยงานที่ร่วมเสนอผลงาน
เกี่ยวกับเครือข่ายกาญจนาภิเษก
ความรู้เพื่อคนไทย
Site map
Milestones
Feedback

Main Banner

เกี่ยวกับเครือข่ายกาญจนาภิเษก


เครือข่ายคอมพิวเตอร์กาญจนาภิเษกคืออะไร?

เครือข่ายคอมพิวเตอร์กาญจนาภิเษก คือ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงข่าวสารจากหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยที่มีข้อมูลเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เช่น พระราชกรณียกิจ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กระแสพระราชดำรัส ตลอดจนข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับประเทศไทยที่น่าสนใจ และเป็นสิ่งที่คนไทยรู้จัก และภาคภูมิใจ เพื่อให้ประชาชนไทยได้สามารถเข้าถึงได้ โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ และในเวลาเดียวกัน เครือข่ายนี้ยังเปรียบเสมือนศูนย์รวมข้อมูล เกี่ยวกับประเทศไทย ที่ผู้สนใจทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ จากทุกมุมโลกผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ในการเข้าชมแต่อย่างใด ทั้งนี้เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก และเป็นการเผยแพร่พระราชกรณียกิจ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดระยะเวลา ๕๐ ปี แห่งการครองราชย์

เครือข่ายกาญจนาภิเษกประกอบด้วยงานหลักสองส่วน คือ เครือข่ายพระราชกรณียกิจ และเครือข่ายกระจายความรู้ให้กับประชาชน

เครือข่ายพระราชกรณียกิจ เป็นเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อหน่วยงานต่างๆ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับพระราชกรณียกิจ หรือสนองพระราชดำริในงานพัฒนาประเทศ บำบัดทุกข์และบำรุงขวัญแก่ประชาชน โดยหน่วยงานเหล่านี้ จะบรรจุข้อมูลเผยแพร่พระราชกรณียกิจ พร้อมทั้งความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ออกเผยแพร่ทางระบบ World-wide Web โดยในขั้นต้น มีหน่วยงานที่อยู่ในโครงการขั้นต้น ๙ หน่วยงาน และจะขยายจำนวนเครือข่ายเพิ่มขึ้นตามความพร้อมของหน่วยงานอื่นๆ ที่จะนำเสนอข้อมูล

เครือข่ายกระจายความรู้สำหรับประชาชน ประกอบด้วยหน่วยงานอื่นๆ ที่มีข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ที่พร้อมเข้าร่วมโครงการนี้ โดยเน้นการให้ประโยชน์แก่วงการศึกษา/วิชาการของเมืองไทย ให้ก้าวหน้าทันโลก โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือที่สำคัญอันหนึ่ง ตามเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ นอกจากนี้ เครือข่ายกระจายความรู้ ยังเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาการใช้ IT ให้กับประเทศไทย เพราะเครือข่ายส่วนนี้ เปิดโอกาสให้ประชาชนคนไทยที่ยังไม่รู้จักกับอินเทอร์เน็ต ได้ทดลองเข้าถึงเครือข่ายกาญจนาภิเษก (ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเหมือนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต) ได้โดยไม่ต้องเสียค่าสมาชิก หรือ เสียค่าโทรศัพท์ทางไกลข้ามเขตรหัสทางไกล ทั้งนี้เพราะเครือข่ายกระจายความรู้ ได้เปิดบริการขึ้นทั่วประเทศไทยไว้คอยบริการท่าน

และตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นต้นมา ได้มีการพัฒนาให้เครือข่ายกระจายความรู้สำหรับประชาชน ใช้เป็นเครือข่ายเพื่อโรงเรียนไทย ที่ทำให้โรงเรียนจำนวน ๑๕๐๐ โรงเรียน สามารถเข้าถึงระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ โดยใช้เลขหมายโทรศัพท์ ๑๕๐๙ ดังนั้น ทางศูนย์เทคโนโลยีอิเลคทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ จึงได้ยุติการบริการเลขหมาย ๑๕๐๙ เพื่อบุคคลทั่วไป โดยเปลี่ยนเป็นการเน้นการใช้งาน โดยมีบัญชีใช้งานควบคุม และอนุญาตให้เฉพาะการใช้งานเพื่อโรงเรียนต่างๆ ในประเทศไทยเท่านั้น

หมายเหตุ การเข้าถึงเครือข่ายกาญจนาภิเษก โดยผ่านเครือข่ายกระจายความรู้ ไม่อนุญาตการใช้งานอื่นใดนอกเหนือจากการอ่านข้อมูลในเครือข่ายกาญจนาภิเษก เท่านั้น (กล่าวคือ จะใช้ electronic mail หรือไปชมข้อมูลนอกเครือข่ายไม่ได้ หากท่านต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตตามปกติโดยไม่มีขีดจำกัด โปรดขอใช้บริการจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั่วไป)


เครือข่ายคอมพิวเตอร์กาญจนาภิเษกนี้ จึงเปรียบเสมือนห้องสมุดขนาดใหญ่ ให้มีผู้อ่าน/ชมข้อมูลได้จากทั่วโลกผ่านอินเทอร์เน็ต โดยเปิดบริการ ๒๔ ชั่วโมง ทุกวันโดยไม่มีวันหยุด

หมายเหตุ การเข้าถึงเครือข่ายกาญจนาภิเษก โดยผ่านเครือข่ายกระจายความรู้ ไม่อนุญาตการใช้งานอื่นใด นอกเหนือจากการอ่านข้อมูล ในเครือข่ายกาญจนาภิเษกเท่านั้น (กล่าวคือ จะใช้ electronic mail หรือไปชมข้อมูลนอกเครือข่ายไม่ได้ หากท่านต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตตามปกติ โดยไม่มีขีดจำกัด โปรดขอใช้บริการ จากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั่วไป)

กลับไปต้นเอกสาร


ทำไมต้องมีเครือข่ายคอมพิวเตอร์กาญจนาภิเษก?

แม้ประเทศไทยจะมีกิจกรรมร่วมเฉลิมฉลองวโรกาสครองราชย์ ๕๐ ปีจำนวนมากในช่วงเวลานับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๕๓๘ แต่ในบรรดากิจกรรมต่างๆ เหล่านั้นยังไม่มีกิจกรรมหรือโครงการใด ได้ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT หรือ Information Technology) อย่างเต็มที่ ประกอบทั้งความสะดวกในการบันทึก และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบัน ซึ่งทำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพขึ้นมาก จึงน่าจะกล่าวได้ว่า คงจะไม่มีของขวัญใด ทัดเทียมกับการบันทึกพระราชกรณียกิจ ผลงานด้านการพัฒนาประเทศไทย และความรู้ต่างๆ ลงในสื่อข้อมูลที่ถาวร ซึ่งประชาชนทุกเพศ ทุกวัย สามารถเข้าอ่านได้ตลอดเวลา เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ทางรัฐบาลไทย โดยคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ จึงได้จัดทำเครือข่ายคอมพิวเตอร์กาญจนาภิเษกนี้ขึ้น ถวายเป็นราชสักการะ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๓๙ ซึ่งประชาชนทั่วไปจะเข้าถึงเครือข่ายกาญจนาภิเษกได้ โดยผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต่อเข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือต่อเข้ากับเครือข่ายกาญจนาภิเษกโดยตรงผ่านโมเด็ม เพื่อเข้าถึงข่าวสารข้อมูลต่างๆ ในเครือข่าย ซึ่งจะนำเสนอเป็นระบบ "เวิร์ลดไวด์เว็บ"

กลับไปต้นเอกสาร


มีอะไรในเครือข่ายคอมพิวเตอร์กาญจนาภิเษก?

เครือข่ายคอมพิวเตอร์กาญจนาภิเษกประกอบด้วยข้อความ ภาพ และเสียง ปรากฏบนจอภาพให้เลือกอ่านได้หลายๆ วิธี โดยอาจสรุปเป็นหัวข้อกว้างๆ ดังต่อไปนี้ พระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระราชดำรัส พระราชพิธีกาญจนาภิเษก วัฒนธรรมไทย ข่าวสารเกี่ยวกับประเทศไทยที่นำเสนอโดยภาครัฐ ข่าวสารเกี่ยวกับประเทศไทย ที่นำเสนอโดยภาคเอกชนที่ขอเข้าร่วมโครงการ ฐานข้อมูลต่างๆ จากสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งข้อมูลในแต่ละหัวข้อคาดว่าจะมีความละเอียด ลึกซึ้ง สมบูรณ์เยี่ยงห้องสมุดขนาดใหญ่ ที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าอ่าน และชมภาพถ่ายหรือภาพยนตร์ โดยปราศจากขีดจำกัดทางภูมิศาสตร์และเวลา

กลับไปต้นเอกสาร


ใครเป็นผู้จัดเตรียมข้อมูลเข้าไว้ในเครือข่ายกาญจนาภิเษก?

องค์กรที่ทำหน้าที่สนับสนุน การจัดเตรียมข้อมูลพระราชกรณียกิจ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในขั้นแรก ได้แก่ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา, มูลนิธิชัยพัฒนา, สำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, มูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, กรมชลประทาน, โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สภากาชาดไทย, สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยจะเน้นข้อมูลเพื่อคนไทย โดยจัดทำเป็นฉบับภาษาไทย มี ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ทำหน้าที่ประสานงานและบริหารโครงการ

นอกจากองค์กรเหล่านี้แล้ว โครงการเครือข่ายกาญจนาภิเษก ยังได้เตรียมการให้หน่วยงานทั่วไป ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้เข้าร่วมกับรัฐบาล ในการเฉลิมฉลองผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยการจัดเตรียมข้อมูล ที่เป็นประโยชน์ในการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับประเทศไทย ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย ทั้งนี้จะต้องไม่มีวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์ ในการนำเสนอข้อมูลเหล่านั้น หากหน่วยงานใดสนใจ โปรดติดต่อขอระเบียบการได้ที่ สำนักงานโครงการเครือข่ายกาญจนาภิเษก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ 112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ๑๒๑๒๐ โทรศัพท์ ๐-๒๕๖๔-๖๙๐๐ ต่อ ๒๒๔๓ โทรสาร ๐-๒๕๖๔-๖๗๗๒

กลับไปต้นเอกสาร


เครือข่ายนี้จะเปิดให้เข้าชมเมื่อใด?

จะเริ่มเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๙ เวลา ๐๙.๐๙ น. ที่สถานีอินเทอร์เน็ต ชื่อ http://kanchanapisek.or.th/ หรือ http://goldenjubilee.or.th/ (เรียกใช้ได้ทั้ง ๒ ชื่อ) ทั้งนี้สถานีดังกล่าวได้นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นก่อน และคาดว่าจะมีการเพิ่มเติม และปรับปรุงข้อมูลให้แก่ผู้ชมต่อไปตลอด

กลับไปต้นเอกสาร


เป็นหน่วยงานเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ ขอเข้าร่วมในเครือข่ายกาญจนาภิเษก ได้หรือไม่?

ได้ โดยหน่วยงานเอกชนสามารถเข้าร่วมในเครือข่ายกาญจนาภิเษก ได้หลายวิธี เช่น การให้ความสนับสนุนทางอุปกรณ์ หรือการเงินหรือการให้คำแนะนำ แก่หน่วยงานต่างๆ ที่ต้องพัฒนา และจัดเตรียมข้อมูลเพื่อแสดงในเครือข่ายกาญจนาภิเษก หรือหากหน่วยงานเอกชนมีข้อมูลนำเสนอ ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของเครือข่ายกาญจนาภิเษก ก็สามารถพัฒนาขึ้น และขอลงทะเบียนเข้าโครงการเครือข่ายกาญจนาภิเษก โดยติดต่อโดยตรงกับ

ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน
ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ๑๒๑๒๐
โทรศัพท์ ๐-๒๕๖๔-๖๙๐๐ ต่อ ๒๒๒๓ โทรสาร ๐-๒๕๖๔-๖๗๗๒
e-mail: webmaster@kanchanapisek.or.th

องค์กรต่างๆ ในเครือข่ายกาญจนาภิเษก ที่จะจัดเตรียมข้อมูลด้านพระราชกรณียกิจ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังขาดแคลนบุคลากร และความชำนาญในการจัดเตรียมข้อมูล ให้อยู่ในรูปแบบสวยงามน่าอ่าน ดังนั้นหน่วยงานเอกชนต่างๆ ที่เป็นผู้ชำนาญทางด้านนี้ หรือมีบุคลากรที่พร้อมจะเข้าร่วมในโครงการ ก็สามารถเข้าร่วมงานกับองค์กรต่างๆ เหล่านี้ได้

กลับไปต้นเอกสาร


สถาบันอุดมศึกษาจะมีบทบาทในเครือข่ายกาญจนาภิเษกได้อย่างไร?

สถาบันอุดมศึกษาจะเป็นแหล่งความรู้ ที่นำมาเผยแพร่ในเครือข่ายกาญจนาภิเษกได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอข้อมูลด้วยตนเอง หรือในลักษณะของการเข้าร่วมงาน กับองค์กรที่อยู่ในเครือข่ายกาญจนาภิเษก ซึ่งจะต้องจัดเตรียมข้อมูลเพื่อเผยแพร่ในเครือข่าย แต่ขาดผู้มีความรู้และความชำนาญ อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาหรือข้าราชการอาจเข้าร่วมเป็น "อาสาสมัคร" ในโครงการนี้ได้ในลักษณะของปัจเจกบุคคล โดยจะติดต่อโดยตรงไปยังองค์กรในเครือข่ายกาญจนาภิเษก หรือติดต่อมาที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติก็ได้

กลับไปต้นเอกสาร


เครือข่ายกาญจนาภิเษกสิ้นสุดเมื่อใด?

เครือข่ายนี้จะเปิดให้บริการข้อมูลไป โดยไม่มีกำหนดสิ้นสุด กล่าวคือ สามารถเรียกอ่านได้จากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา และข้อมูลก็จะได้รับการพัฒนาให้สมบูรณ์ และถูกต้องทันต่อเหตุการณ์ โดยหน่วยงานที่เป็นผู้ดูแลข้อมูล (อย่างไรก็ตาม นโยบายในการให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล อาจเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม และข้อจำกัดที่อาจเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ซึ่งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ในฐานะสำนักงานประสานงานโครงการ จะได้แจ้งให้ทราบต่อไป)

กลับไปต้นเอกสาร


สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๔๒ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗
ห้ามนำข้อมูลของเครือข่ายนี้ ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร