๑.
ผู้ป่วยจะต้องมีไข้สูงนานอย่างน้อย ๕ วัน โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคนี้
ถ้าไม่ได้รับการรักษา มักมีไข้นานเฉลี่ย
๑๑
วัน แต่บางรายอาจนานถึง ๓-๔ สัปดาห์ |

ผู้ป่วยโรคคาวาซากิ ตาจะแดงช้ำ |
๒.
ผู้ป่วยจะต้องมีอาการ ๔
ใน ๕ ข้อ ดังต่อไปนี้ โดยอาการอาจไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน
แต่อาจเกิดขึ้นทีละอาการต่อเนื่องกัน
๑) เยื่อบุตาขาวอักเสบทั้ง ๒ ข้าง
๒) ผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย
พบผื่นได้หลายแบบที่พบบ่อยคือ ผื่นแดงนูน กระจายทั่วไป
โดยเฉพาะบริเวณลำตัวและรอบก้น ซึ่งต่อมาผิวหนังบริเวณรอบก้นจะหลุดลอก
แต่จะไม่เป็นผื่นชนิดตุ่มน้ำใส หรือตุ่มหนอง
๓)
ริมฝีปากและเยื่อบุภายในช่องปากมีการเปลี่ยนแปลง คือ
ริมฝีปากแดงจัดและแห้งแตก เยื่อบุช่องปากและลิ้นบวมแดง
ผิวมีตุ่มขรุขระคล้ายผลสตรอว์เบอร์รี
๔) มือและเท้าบวมแดง ในสัปดาห์ที่ ๒ หลังจากมีไข้
จะพบว่าผิวหนังบริเวณรอบๆ
เล็บเกิดการหลุดลอก รวมทั้งปลายนิ้วมือ และนิ้วเท้า
๕) ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโต ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นๆ
เพิ่มเติมจากเกณฑ์การวินิจฉัยข้างต้น หรืออาจมีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่
ข้ออักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ท้องเสีย ถุงน้ำดีอักเสบ
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ เมื่อตรวจเลือด จะพบความผิดปกติ
ที่บ่งบอกถึงการอักเสบของร่างกาย มีปริมาณเกล็ดเลือดเพิ่มสูงขึ้น
และอาจพบผลเลือดอื่นๆ ที่บ่งบอกถึงการทำงานที่ผิดปกติ
ของอวัยวะหลายอย่างได้ แต่บางรายอาจมีอาการไม่ครบเกณฑ์การวินิจฉัย
ต้องอาศัยการตรวจอื่นๆ
เพิ่มเติม
โรคคาวาซากิเป็นโรคที่หายได้เอง แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจใช้เวลานาน ๒-๔
สัปดาห์กว่าไข้จะลดลง
และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการอุดตันของเส้นเลือดแดงที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ
แต่พบได้ไม่มาก ซึ่งมักเกิดประมาณ ๖-๘
สัปดาห์หลังจากเริ่มมีอาการ ซึ่งเป็นช่วงที่อาการและอาการแสดงอื่นๆ
เริ่มดีขึ้นแล้ว หรืออาจเกิดหลังจากนั้นอีกหลายเดือน
หรือเป็นปี
เนื่องจากโรคนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงสูงจากการอักเสบของเส้นเลือดหัวใจ
ดังนั้น ผู้ป่วยทุกรายที่สงสัยว่า จะเป็นโรคนี้
จะต้องได้รับการตรวจเส้นเลือดแดงที่เลี้ยงหัวใจหรือหลอดเลือดแดงอื่นๆ
อย่างละเอียด ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
มักไม่มีปัญหาในระยะยาว |

ผู้ป่วยโรคคาวาซากิ ปากมีลักษณะบวมแดง |
การรักษา
วิธีการรักษาพบว่า เมื่อให้อิมมูโนโกลบูลิน (immunoglobulin) ขนาดสูง
ก่อนวันที่ ๑๐ ของอาการไข้ ร่วมกับการให้รับประทานยาแอสไพริน
สามารถลดความเสี่ยงต่อความผิดปกติของเส้นเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลงได้มาก
และลดความรุนแรงของโรคแทรกซ้อนที่หัวใจลงได้ แต่ในรายที่พบว่า
ยังมีความผิดปกติของเส้นเลือดแดงที่เลี้ยงหัวใจ
จะต้องมีการติดตามการรักษาเป็นเวลานาน ตามความรุนแรงของความผิดปกติ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายเป็นปกติภายหลังได้รับการรักษาที่เหมาะสม
สามารถเล่นและทำกิจกรรมได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป
แต่ผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดโป่งพองขนาดใหญ่จะมีโอกาสเกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ
และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในภายหลัง |

ช่วงหายของโรคคาวาซากิ ผิวหนังที่ปลายนิ้วมือและนิ้วเท้าจะลอก |
การป้องกัน
โรคนี้ยังไม่มีวิธีป้องกัน และยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกัน
เพราะยังไม่ทราบสาเหตุของโรคแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร
๙.
โรคไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever)
สาเหตุและการติดต่อ
โรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่
(dengue) ไวรัสชนิดนี้มี ๔ สายพันธุ์
สามารถก่อโรคได้เท่ากัน ในประเทศไทย พบการติดเชื้อไวรัสทั้ง ๔
สายพันธุ์ตลอดมา เชื้อไวรัสชนิดนี้มียุงลายเป็นพาหะ
ทั้งยุงลายบ้านและยุงลายสวน เมื่อยุงกัดผู้ป่วย ในช่วงที่มีไข้
ซึ่งเป็นช่วงที่มีเชื้อไวรัสในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าไปแบ่งตัวในยุง
เมื่อยุงลายกัดคน ก็จะปล่อยเชื้อไวรัสออกมากับน้ำลาย
ทำให้คนที่ถูกยุงกัดได้รับเชื้อไวรัส
ไวรัสชนิดนี้ไม่ติดต่อโดยตรงจากผู้ป่วยไปสู่คนอื่น แต่จะต้องมียุงเป็นพาหะ
ซึ่งยุงลายชอบกัดในเวลากลางวัน โรคนี้มักพบในเด็กวัยเรียน
จึงมักมีการระบาดในโรงเรียน หากในบริเวณโรงเรียนมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุง |
อาการและการดำเนินโรค
หลังจากถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเด็งกี่กัด
ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้ อาการมีตั้งแต่น้อยมาก จนไม่มีอาการใดๆ
หรือมีไข้เล็กน้อยประมาณ ๒-๓ วัน และหายไปเอง จนถึงมีอาการ
ของไข้เด็งกี่และไข้เลือดออก ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นไข้เด็งกี่จะมีอาการไข้สูง
หน้าแดง ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร ปวดท้อง ปวดในกระบอกตา มีอาการประมาณ
๓-๕ วัน และหายไปเอง
ส่วนผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกจะมีอาการเริ่มต้นคล้ายไข้เด็งกี่เรียกว่า
ระยะไข้ หากทำการทดสอบทูนิเกต์ (tourniquet test) โดยการรัดที่ต้นแขน
มักเห็นจุดเลือดออก เกิดขึ้นบริเวณข้อพับแขน ต่อมาในช่วงที่ไข้เริ่มลดลง
คือ ประมาณหลังวันที่ ๓-๕
ของอาการไข้ จะมีการรั่วของพลาสมาออกมาจากเส้นเลือด ซึ่งอาจมีการรั่วมาก
จนทำให้เลือดข้น ปริมาตรเลือดในร่างกายลดลง จนเกิดอาการช็อกได้
และอาจมีเลือดออก ที่อวัยวะต่างๆ เช่น เลือดกำเดาออก อาเจียนเป็นเลือด
ถ่ายเป็นเลือด ระยะนี้เรียกว่า
ระยะวิกฤต ซึ่งจะเป็นอยู่นานประมาณ ๒๔-๔๘ ชั่วโมง
จากนั้นจึงจะเข้าสู่ระยะหาย ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายตัวขึ้น
และเริ่มรับประทานอาหารได้ ในช่วงหายป่วยนี้ มักมีผื่นขึ้น
มีลักษณะเป็นผื่นแดง ไม่นูน คล้ายจุดเลือดออก กระจายหนาแน่น
โดยจะปรากฏดวงขาวๆ
แทรกบนผื่นสีแดง กระจายอยู่ทั่วไป บางคนอาจมีอาการคัน
โดยทั่วไปเมื่อเห็นผื่นขึ้น แสดงว่า กำลังจะหายป่วยแล้ว
ผื่นมักเป็นอยู่ประมาณ ๑ สัปดาห์ ก็จะหายไป |

โรคไข้เลือดออกระยะไข้
จะมีหน้าแดง ปากแดง |
อาการของโรคไข้เลือดออกและไข้เด็งกี่ในระยะไข้มักแยกไม่ได้จากโรคติดเชื้อไวรัสอื่นๆ
แต่มีอาการมากกว่า มีไข้สูงลอย แม้รับประทานยาลดไข้แล้ว ไข้ก็ไม่ลด
นอกจากนี้มีอาการหน้าแดง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
ผู้ป่วยหลายรายรับประทานไม่ได้เลย
โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมีอาการหนักกว่าไข้เด็งกี่
หรือไข้จากการติดเชื้อไวรัสอื่นๆ และในระยะต้นไม่สามารถบอกได้ว่า
ผู้ป่วยรายใดติดเชื้อไข้เด็งกี่
แล้วจะมีอาการรุนแรงจนเป็นโรคไข้เลือดออก หรือจะมีอาการไม่มาก
เป็นแค่ไข้เด็งกี่หรือไข้เล็กน้อย หากสงสัยว่าเป็นโรคนี้
จะต้องให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาแบบไข้เลือดออกไว้ก่อน |

ผื่นระยะหายของไข้เลือดออก มีลักษณะเป็นผื่นแดงไม่นูน และมีดวงสีขาวๆ
แทรกบนผื่นแดง ทั้งลำตัวและขา |
โรคไข้เลือดออกหายได้เอง
หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยมักจะหายเป็นปกติภายใน ๕-๗
วัน แต่หากมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะช็อก
เลือดออกมาก ตับวาย หรือมีอาการทางสมอง อาจทำให้เสียชีวิตได้
ผู้ป่วยที่อ้วนหรือมีโรคประจำตัว เช่น ธาลัสซีเมีย
มักเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกแล้ว
มักจะไม่เป็นซ้ำอีก |

ยุงลาย พาหะของโรคไข้เลือดออก |
การรักษา
การรักษาโรคไข้เลือดออกเป็นวิธีการรักษาแบบประคับประคอง
คือ ให้ยาลดไข้อย่างเหมาะสม โดยไม่ให้ใช้ยากลุ่มแอสไพริน
เพราะอาจเกิดปัญหาเลือดออกในทางเดินอาหารได้
แพทย์มักนัดให้ทำการตรวจเลือดเป็นระยะๆ ในช่วงระยะไข้
มักไม่ใช่ช่วงที่อันตราย แพทย์อาจให้สังเกตอาการที่บ้าน
แต่เมื่อเข้าสู่ระยะวิกฤตผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
การรักษาโดยการให้สารน้ำทดแทนทางหลอดเลือดดำ ตามชนิดและขนาดที่เหมาะสม
เพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะช็อก และรักษาภาวะแทรกซ้อน เช่น
ให้เลือดเมื่อมีการเสียเลือด
โดยประคับประคองไม่ให้เกิดปัญหาขาดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ
รักษาภาวะตับวายและไตวาย โรคนี้ยังไม่มียาจำเพาะในการรักษา |

กองควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ได้จัดทำข้อมูลประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับวงจรชีวิตยุงลาย
และรณรงค์วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออก |
ผู้ปกครองควรเฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
และในช่วงที่จะเข้าระยะวิกฤต ควรรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยทันที หากพบว่า
มีอาการกระสับกระส่าย ซึม หอบ เลือดออก อาเจียนมาก
หรือรับประทานได้น้อยหรือไม่ได้ ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก
แต่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันกาล อาจเสียชีวิตได้
การรักษาอย่างเหมาะสมและติดตามผลอย่างใกล้ชิด จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อน
และลดความรุนแรงของโรคได้ |

การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายด้วยวิธีต่างๆ
เป็นการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก
|
การป้องกัน
โรคไข้เลือดออกยังไม่มีวัคซีน สำหรับป้องกัน วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ
ป้องกันไม่ให้ยุงกัด รักษาสุขภาพให้แข็งแรง อย่าให้อ้วน เพราะภาวะอ้วน
มักทำให้เกิดอาการของโรคที่รุนแรง และการรักษาด้วยสารน้ำ ทางหลอดเลือดดำ
ทำได้ยาก |

การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายด้วยวิธีต่างๆ
เป็นการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก |
การควบคุมโรคที่สำคัญคือ
การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
โดยยุงลายชอบอยู่ในชุมชนเมืองที่มีแหล่งน้ำขัง และชอบวางไข่ ในน้ำขังนิ่ง
ในภาชนะหรือสิ่งที่สามารถกักเก็บน้ำได้ เช่น
ยางรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้ว กระถางต้นไม้ เศษกระถางแตก แจกัน
แม้กระทั่งกาบใบไม้ ซึ่งกักน้ำได้แม้จะไม่มาก แต่หากมีน้ำขังนิ่งอยู่นาน
ยุงลายก็สามารถวางไข่ได้ จึงควรจะคว่ำกระถาง และภาชนะต่างๆ
ที่อาจจะกักน้ำฝนได้ เปลี่ยนน้ำในแจกันบ่อยๆ ใส่เกลือ ผงซักฟอก
หรือทรายอะเบตในภาชนะที่ใช้เก็บน้ำ โดยเลือกตามความเหมาะสม
ชุมชนที่มียุงมากควรมีการฉีดสารเคมีฆ่ายุงเป็นครั้งคราว
ผู้ป่วยที่มีอาการไข้ซึ่งอาจเป็นไข้เลือดออก ควรระวังไม่ให้ยุงกัด
เพราะยุงอาจได้รับเชื้อซึ่งอาจนำเชื้อไวรัสไปแพร่ให้ผู้อื่นได้ |